ภาคเอกชนไทยขอให้รัฐช่วยเหลือเงินเดือนบางส่วนเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้แรงงานตกงานถึง 10 ล้านคน นอกจากนี้ยังเสนอมาตรการอื่นๆ ให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วย
กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวหลังจากที่มีการประชุมร่วมระหว่างภาคเอกชนกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในประเด็นของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าถ้าหากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน จะส่งผลทำให้มีคนไทยตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน จากที่ล่าสุดคาดการณ์ไว้ที่ 7 ล้านคน ถ้าหากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการดูแล
- ครม. เคาะงบเยียวยา COVID-19 ระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เน้นกู้เงินในประเทศ
- SCB EIC ปรับลด GDP ไทยปีนี้กรณีแย่สุดที่ –7.2% ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง
- ธนาคารโลกปรับลด GDP ไทยอีกรอบ มองไปในปี 2022 คนจนจะเยอะกว่าปี 2015
มุมมองของภาคธุรกิจคือ ถ้าหากรัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องค่าแรงให้กับผู้ประกอบการ 50% เป็นการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ เพียงแค่ 7,500 บาทต่อเดือน (คิดจาก 15,000 บาท) จะส่งผลทำให้ลูกจ้างไม่ถูกเลิกจ้าง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจ่ายให้ 25% ก็สามารถให้นำไปหักภาษีได้ 3 เท่า โดยที่ลูกจ้างลดเงินเดือนลง 25% จะทำให้แรงงานกว่า 10 ล้านคนไม่ถูกเลิกจ้าง
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอกชนได้ขอร้องให้รัฐออกมาตรการเยียวยาอื่นๆ เช่น
- ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของ SME เป็นระยะเวลา 2 ปี
- ขยายเวลาการส่งมอบงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐออกไป 4 เดือน
- ลดค่าจดจำนองโอนที่ดินเหลือ 0.01%
- ขอรัฐอนุญาตให้จ้างงานเหลือ 4 ชั่งโมงต่อวัน จาก 8 ชั่วโมงต่อวัน
- นำผลขาดทุนของกิจการไปเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีจากเดิม 5 ปี ขอเป็น 7 ปี
คาดว่าหลังจากนี้ภาคธุรกิจจะมีการนำข้อเสนอไปให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสัปดาห์หน้า โดยที่มาตรการไหนที่รัฐบาลทำได้ก็สามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติมาตรการได้ทันที
ที่มา – มติชนออนไลน์, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา