ครม. เคาะงบเยียวยา COVID-19 ในเฟสที่ 3 ออกมาแล้ว เป็นเม็ดเงินรวมกันกว่า 1.9 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังอนุมัติการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทด้วย
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยา COVID-19 ระยะที่ 3 โดยมีวงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ
มาตรการในการเยียวยาประชาชนในระยะที่ 3 ประกอบไปด้วย
- ออกพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เมษายน 2563 และเริ่มกู้เงินได้เดือน พฤษภาคม 2563 แบ่งเป็น
- จัดทำแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ได้แก่ เยียวยาประชาชน 6 เดือน, เยียวยาเกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข
- แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยครอบคลุมโครงการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่
- ออกพระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกสินเชื่อดอกเบี้ยตำ่เพื่อดูแลภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเฉพาะ วงเงิน 5 แสนล้านบาท
- สินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท
- ธนาคารพาณิชย์ และ SFls พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนให้ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
- ออกพระราชกำหนดดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond และให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
นอกจากนี้ในมาตรการการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาทนั้นยังได้เพิ่มการเยียวยาประชาชนผู้ที่ลงทะเบียนเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน จาก 3 เดือน เพิ่มเป็น 6 เดือนอีกด้วย แต่ยังคงจำนวนผู้รับสิทธิ์อยู่ที่ 9 ล้านคนเช่นเดิม
สำหรับเงินกู้จำนวน 1 ล้านล้านบาทนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลจะกู้จนถึงช่วงเดือนกันยายน 2564 โดยมีทั้งการกู้เงินในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีการเปิดช่องให้สามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้
ที่มา – หนังสือพิมพ์บ้านเมือง, Bangkok Insight
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา