ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน้ากากอนามัยได้กลายเป็นสิ่งของสามัญประจำบ้านที่ทุกๆ บ้านต้องมีเก็บไว้ นอกเหนือจากยารักษาโรค แต่ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาหน้ากากอนามัยขาดแคลนจนหาซื้อไม่ได้ ส่วนที่หาซื้อได้ก็มีราคาแพงมากกว่าเดิมหลายเท่า
3M เป็นหนึ่งในผู้ผลิตหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทำความสะอาดรายใหญ่ของโลก ได้คาดการณ์ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีนจะทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงขึ้น
Andrew Rehder ผู้จัดการโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 3M ในเมือง Aberdeen เรียกประชุมผู้บริหารทั้งหมด เพื่อวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัย เดินเครื่องจักรที่เคยเป็นเครื่องสำรอง สั่งให้พนักงาน 650 คนทำงานล่วงเวลา และ Rehder คาดการณ์กว่าสถานการณ์จะเป็นแบบนี้ไปอีกมากกว่า 2 สัปดาห์แน่ๆ แต่ไม่รู้จะนานเท่าไหร่
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกที่ 3M เคยเจอ เพราะก่อนหน้านี้โรค SARS ที่ระบาดเมื่อปี 2002-2003 การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุใหม่ 2009 Ebola รวมถึงภัยธรรมชาติชนิดต่างๆ ทั้งไฟป่า พายุเฮอริเคน ซึ่งล้วนเป็นสถานการณ์ที่ต้องใช้หน้ากากอนามัยทั้งสิ้น ทำให้ 3M รู้ว่ากำลังการผลิตที่มียังไม่เพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ เมื่อถึงคราวของโรคโควิด-19 3M จึงค่อนข้างมีความพร้อม
ความต้องการของหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้น เป็นเรื่องน่ากังวลเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการแพทย์หากไม่มีหน้ากากอนามัย บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ และพยาบาลจะมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อไวรัสโดยตรง
จีนเป็นฐานการผลิตหน้ากากอนามัยสำคัญของโลก
เมื่อโรคโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศจีน รัฐบาลจีนจึงออกคำสั่งระงับการส่งออกหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในประเทศทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลน ซึ่งในขณะนั้นเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกประเทศจีนแล้ว บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนจึงต้องใช้หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันซ้ำหลายครั้ง หรือแม้แต่ต้องผลิตหน้ากากอนามัยจากวัสดุที่หาได้ใกล้ตัวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ขณะที่ราคาหน้ากากอนามัยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นนับ 10 เท่า จากที่เคยหาซื้อได้ชิ้นละ 0.6-0.8 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 19.73-26.31 บาท
ในปัจจุบันกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยของ 3M เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านชิ้นต่อเดือน และในอนาคตวางแผนว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้เป็น 2,000 ล้านชิ้นต่อปี หรือประมาณ 166 ล้านชิ้นต่อเดือน ส่งผลให้พนักงาน 3M มากกว่า 96,000 คนยังต้องทำงานหนักในโรงงาน และโกดัง เพื่อทำการผลิตหน้ากากอนามัย สวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจและโรคระบาดที่บริษัทอื่นๆ เริ่มทยอยปลดพนักงานกันแล้ว
อย่างไรก็ตามการทำงานในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งต้องมีความเข้มงวดเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งโรงงาน 3M ใน Aberdeen มีการทำเครื่องหมายสีเหลืองไว้ที่พื้นเพื่อเตือนพนักงานให้รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
วิธีผลิตหน้ากากอนามัยแบบ 3M
Charles Avery ผู้อำนวยการที่ดูแลอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลของ 3M เล่าว่า ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าปริมาณความต้องการหน้ากากอนามัยจะต้องมากจนขาดแคลนแน่ๆ เพราะดูจากความรุนแรงที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งๆ ที่ยังมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากด้วยซ้ำ
การผลิตหน้ากากอนามัยของ 3M มีความได้เปรียบอย่างหนึ่งคือ 3M ไม่ได้ตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศที่มีค่าแรงถูก แต่ใช้วิธีตั้งโรงงานใกล้กับแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัย และแต่ละโรงงาน ทำหน้าที่ผลิตหน้ากากอนามัยให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่นั้น
เช่น โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศจีน ผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อขายในประเทศจีน ส่วนโรงงานในประเทศเกาหลี ก็ผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับขายในประเทศเกาหลี และประเทศอื่นๆ โดยรอบอีกเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งวิธีที่ 3M ใช้ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกห้ามส่งออก หรือต้องเสียภาษีในการนำเข้าสินค้า
เมื่อได้รับคำสั่งให้เพิ่มการผลิตหน้ากากอนามัยในโรงงานที่ Aberdeen จึงจำเป็นที่จะต้องจ้างพนักงานเพิ่มให้เพียงพอกับปริมาณเครื่องจักรที่เดินเครื่องเต็มกำลัง 3M ใช้วิธีการรับสมัครพนักงานผ่านงาน Job Fair แบบออนไลน์ หลังจากนั้นพนักงานที่ผ่านการคัดเลือกให้ทำงานต้องทำการตรวจสุขภาพก่อนเริ่มทำงาน ซึ่งตอนนี้โรงงานที่ Aberdeen มีพนักงานแล้วกว่า 700 ราย
การผลิตหน้ากากอนามัยสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้ชิ้นส่วนที่สามารถผลิตได้ภายในโรงงานเดียวกัน รวมถึงกรรมวิธีในการผลิตก็ใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพนักงานมีหน้าที่เพียงการบรรจุหน้ากากอนามัยที่ผลิตเสร็จแล้วใส่กล่องเท่านั้น ทำให้พนักงานแต่ละคนสามารถเว้นระยะห่างระหว่างกันได้ง่าย ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีพนักงานในโรงงานคนใดที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19
Tamer Abdouni พ่อค้าคนกลางที่ทำหน้าที่นำเข้าหน้ากากอนามัยไปขายในประเทศเลบานอน เล่าว่า ในช่วงเวลาปกติเขาสามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้เพียงชิ้นละ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 41.16 บาท แล้วนำไปขายต่อและบวกกำไรเพิ่มอีกเล็กน้อย แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน้ากากอนามัยที่เขาหาได้มีราคาสูงถึง 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 238.74 บาท ทำให้เขาไม่กล้าซื้อไปขายต่อ เพราะจะกลายเป็นว่าเขาหากำไรในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้
ส่วนในสหรัฐอเมริการาคาหน้ากากอนามัยก็สูงขึ้นมากเช่นกัน Andrew Cuomo ผู้ว่าการรัฐ New York เล่าว่าโดยปกติหน่วยงานรัฐเคยซื้อหน้ากากอนามัยในราคาเพียง 0.85 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 28 บาท แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าต้องซื้อในราคา 7 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 230.50 บาท ต่อชิ้น อย่างไรก็ตาม 3M ยืนยันว่าไม่ได้ขึ้นราคาหน้ากากอนามัยหน้าโรงงานแต่อย่างใด แต่ราคาขายปลีกที่เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ 3M ควบคุมไม่ได้ เพราะได้ขายหน้ากากอนามัยไปให้ผู้จัดจำหน่ายแล้ว
ความต้องการหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นทำให้ยอดขายของ 3M อาจเพิ่มสูงขึ้นอีก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.97 หมื่นล้านบาท
We hit 3M hard today after seeing what they were doing with their Masks. “P Act” all the way. Big surprise to many in government as to what they were doing – will have a big price to pay!
— Donald J. Trump (@realDonaldTrump) April 3, 2020
อย่างไรก็ตาม Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความเมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมาและประกาศว่ารัฐบาลได้ลงนามทำความตกลงตามกฎหมายกับ 3M กฎหมาย “การผลิตเพื่อป้องกัน” ทรัมป์เรียกว่า P Act (Defense Production Act) มีคำสั่งให้ 3M ผลิตหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการ
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา