ความทุกข์ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างความกังวลให้กับเราเป็นอย่างมาก วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ทันตั้งตัว เราออกไปทานอาหารนอกบ้านไม่ได้ ไปเดินเล่นในห้างสรพพสินค้าไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เราเกิดความทุกข์โดยไม่รู้ตัว
Devid Kessler หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านความทุกข์ และเจ้าของเว็บไซต์ grief.com เล่าว่า ความจริงแล้วความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัวเสมอไปหากเรารู้สาเหตุ และสามารถจัดการกับมันได้อย่างถูกวิธี สิ่งแรกที่ควรทำคือ เข้าใจก่อนว่าความทุกข์คืออะไร
Devid Kessler เล่าว่า ความรู้สึกที่มีมากมายภายในจิตใจคน อาจเรียกได้ว่าเป็นความทุกข์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ การสูญเสียปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นในช่วงกักตัว สิ่งเหล่านี้คือความทุกข์ทั้งสิ้น
บางครั้งความทุกข์อาจมาในรูปแบบของความกังวล เพราะความไม่แน่นอนในอนาคตก็ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นความตายของคน เราอาจมีคนในครอบครัวที่ป่วยหนัก เรากังวลว่าวันหนึ่งเราจะสูญเสียคนที่เรารักไป หรือแม้แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการจินตนาการว่าจะเกิดเรื่องไม่ดี แม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริงแต่ทำให้เรารู้สึกขาดความมั่นคงในชีวิต
ก่อนจะจัดการกับความทุกข์ ต้องเข้าใจความทุกข์ก่อน
ก่อนที่เราจะกำจัดความทุกข์ออกจากใจเราได้ สิ่งแรกที่จำเป็นที่สุดคือ ต้องเข้าใจก่อนว่าความทุกข์ก็มีระดับขั้นของมันเช่นกัน Devid Kessler ได้แบ่งความทุกข์ออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 ช่วงการปฎิเสธความจริง เป็นช่วงแรกของความทุกข์ที่เรารู้ว่ามันมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น แต่เราไม่ยอมรับ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว เช่น สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในช่วงแรกเราคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ไม่น่ากลัว ไม่เกี่ยวกับเรา
ช่วงที่ 2 ช่วงความโกรธ เป็นช่วงที่เราเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบที่ตามมาของสถานการณ์แล้ว แต่เรายังไม่ยอมรับความจริง เราอาจได้รับผลกระทบอะไรบางอย่างในช่วงนี้ เช่น คุณอาจไม่พอใจที่หน่วยงานรัฐออกมาตรการให้อยู่แต่ในบ้าน ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ทำให้อิสระในการใช้ชีวิตของคุณหมดไป
ช่วงที่ 3 ช่วงการต่อรองเงื่อนไข เป็นช่วงที่เราเริ่มยอมรับความจริงถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น คุณยอมทำตามมาตรการอยู่แต่ในบ้านของรัฐบาล เพราะหวังว่าจะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น
ช่วงที่ 4 ช่วงความเศร้า แม้ว่าจะผ่านช่วงแห่งการต่อรองเงื่อนไข ซึ่งดูเหมือนว่าคุณจะยอมรับกับสถานการณ์ได้แล้ว แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คุณจึงเริ่มรู้สึกถึงความเศร้า ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สถานการณ์การจะดีขึ้น
และช่วงที่ 5 ช่วงแห่งการยอมรับ เป็นช่วงที่คุณเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงหาทางควบคุมมันให้ได้ เช่น คุณรู้จักที่จะล้างมือ รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนเมื่อไม่จำเป็น รวมถึงเริ่มทำงานที่บ้าน (Work From Home)
ทำอย่างไรเพื่อจัดการกับความทุกข์?
วิธีการที่จะจัดการกับความทุกข์มีมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักเปิดใจยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน
ต้องรู้จักมองโลกในแง่ดีบ้าง
วิธีแก้ไขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจเราง่ายที่สุดคือต้องรู้จักมองโลกในแง่ดีบ้าง ซึ่งการมองโลกในแง่ดีเป็นเหมือนการสร้างสมดุลให้กับสิ่งที่เราจินตนาการ เมื่อเรารู้สึกว่าเรากำลังจินตนาการถึงอนาคตที่เลวร้าย แม้ยังไม่เกิดขึ้นจริง ให้ลองปรับวิธีคิดด้วยการจินตนาการถึงสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นบ้าง เช่น หากเรามีคนในครอบครัวที่กำลังป่วย เราเริ่มกลัวว่าเขาคนนั้นจะเสียชีวิต ให้ลองจินตนาการว่าวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น ก็อาจช่วยรักษาชีวิตคนที่เรารักไว้ได้
อยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้น
ถ้าคุณไม่สามารถหยุดจินตนาการถึงเรื่องไม่ดี หรือไม่สามารถมองโลกในแง่ดีมาหักล้างได้ คุณควรลองหันกลับมาอยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้นอย่าเพิ่งคิดไปไกล ลองมองไปรอบๆ ตัวคุณในตอนนี้ คุณเห็นอะไรบ้าง ลองมองหาสิ่งของในห้อง 5 อย่างดูก็ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ และทีวี หลังจากนั้นให้หายใจเข้าลึกๆ อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด คุณจะค้นพบว่ายังไม่มีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นสักหน่อย ทุกอย่างยังปกติดี
ปล่อยวางสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม
บางครั้งสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้คุณเกิดความทุกข์ หรือความกังวล เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของคน ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องควบคุมทุกอย่างได้เสมอไป ลองทำเฉยๆ หรือมองข้ามมันบ้างก็ได้ จะช่วยลดความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น
เปลี่ยนวิธีคิด อย่านึกถึงความทุกข์
เมื่อไหร่ที่เราคิดถึงสถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ไม่ดี เมื่อนั้นเราจะรู้สึกถึงความทุกข์ เช่น เราคุยกับเพื่อนที่ทำงานว่าเมื่อวานเราร้องไห้ เพราะเสียใจกับสถานการณ์บางอย่าง หรือเมื่อวานนอนไม่หลับเพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องแย่ๆ เมื่อนั้นความทุกข์จะคืบคลานเข้ามาในจิตใจ ให้ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่าไปนึกถึงเรื่องที่เป็นสาเหตุให้เราเกิดความทุกข์บ่อยๆ แต่ให้คิดว่าเรารู้สึกแย่ แต่อย่าลืมว่าคนอื่นอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเราก็ได้
ที่มา – HBR
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา