การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวงการการศึกษาอย่างชัดเจน โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างปิดทำการ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนต้องมารวมตัวกันจำนวนมาก มหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมทั้งในไทยปรับไปทำการเรียนการสอนออนไลน์แทน ซึ่งอาจทำได้ในระดับอุดมศึกษา แต่ระดับมัธยมกับประถมศึกษาจะทำอย่างไร? เกาหลีใต้เลือกเดินหน้าออนไลน์แล้ว
โดยกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ ได้ประกาศว่าภาคการศึกษาใหม่ จะเริ่มต้นในวันที่ 9 เมษายนนี้ทั่วประเทศ ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมคือ 2 มีนาคม พร้อมกำหนดให้โรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั้งหมด เปลี่ยนไปทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แทนระบบห้องเรียนแบบเดิม
ทดสอบการเปลี่ยนผ่านทีละสัปดาห์
Yoo Eun-hae รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวนั้นเพื่อให้ชัดเจนว่าการเรียนการสอน ต้องเปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์ทันที เพราะสถานการณ์ตอนนี้ตอบได้ยากว่าการระบาดของโรคจะสิ้นสุดเมื่อใด
ลองนึกภาพการเปลี่ยนมาเป็นออนไลน์พร้อมกันทั้งโรงเรียนก็น่าจะลำบากทีเดียว กระทรวงฯ จึงกำหนดให้ระดับชั้น ม.3 และ ม.6 (เทียบเท่ากับของไทย) เป็นกลุ่มแรกที่เริ่มเรียนแบบออนไลน์ก่อน จากนั้นสัปดาห์ถัดมาจึงให้ระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เหลือ รวมทั้งประถมศึกษาตอนปลาย เริ่มเข้าระบบการเรียนออนไลน์ ส่วนประถมศึกษาตอนต้น ค่อยตามมาในอีกหนึ่งสัปดาห์
สำหรับระดับชั้นอนุบาลนั้น กระทรวงฯ กำหนดให้เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปไม่มีกำหนด ส่วนระดับมหาวิทยาลัยนั้นเปลี่ยนเป็นออนไลน์ไปก่อนหน้าแล้ว
พ่อแม่เห็นด้วย แต่ความพร้อมของทุกฝ่ายยังเป็นคำถาม
ผลสำรวจโดย Realmeter พบว่าพ่อแม่เด็ก 72% เห็นด้วยที่ให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพราะกังวลหากลูกต้องไปโรงเรียนตามกำหนดเปิดภาคการศึกษา อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าโรงเรียนเองมีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อมแค่ไหน เพราะข้อมูลนั้นพบว่ามีโรงเรียนถึง 3,600 แห่ง จากทั้งหมด 8,999 แห่ง ที่ไม่มีการติดตั้ง Wireless Network สำหรับให้ครูใช้ถ่ายทอดสดการสอนจากในห้องด้วยซ้ำ
การเข้าถึงการเรียนสำหรับนักเรียนก็เป็นปัญหาเช่นกัน ข้อมูลระบุว่าครอบครัวเกาหลีใต้ 3 ใน 10 ครอบครัว ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่แท็บเล็ต อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ระบุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีชุดอุปกรณ์สำหรับใช้ยืมเพื่อการเรียนตอนนี้
เลือกวิธีการสอนที่เหมาะสม
ปัญหาหนึ่งคือครูเองก็ไม่มีประสบการณ์ในการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งมีบรรยากาศและการควบคุมที่แตกต่างจากห้องเรียนปกติ กระทรวงศึกษาธิการให้แนวทางจัดการสอน 3 รูปแบบ แบบแรกคือโต้ตอบกันเรียลไทม์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แบบที่สอง ให้อัดวิดีโอแล้วเผยแพร่เพื่อให้นักเรียนมาดูภายหลัง และแบบที่สาม ใช้การมอบหมายงานเป็นโปรเจกต์ให้ทำหรือส่งรายงาน โดยให้แต่ละโรงเรียนเลือกวิธีที่เหมาะสมเอง
ผู้ปกครองรายหนึ่งกล่าวว่า หากปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอเพียงลำพัง เขาก็ไม่แน่ใจว่าการเรียนจะมีประสิทธิภาพ ตอนนี้ทางออกที่คิดกันคือรวมกลุ่มในบ้านใกล้เคียง จัดห้องเรียนในบ้าน แล้วให้พ่อแม่ผลัดกันมาดูแล ซึ่งน่าจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนได้ดีมากขึ้น
ที่มา: The Strait Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา