ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงคลัง เผย กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ทั้งสองกระทรวงกำลังเร่งหาทางแก้ไขปัญหา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน เบื้องต้นอาจใช้วิธีเพิ่มทุน หรือกู้เงิน แต่ต้องดูสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อไร
ทางกระทรวงการคลังย้ำว่า จะพยายามทำให้สถานการณ์การบินไทยกลับมาอยู่ในภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปิดธุรกิจการบินไทยแน่นอน
ก่อนหน้านี้ ครม. เพิ่งจะเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบินจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ 4 ด้าน มีผล 1 เมษายน -31 ธันวาคม 2563
- ปรับลดค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลดลง 50% สำหรับเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศที่บินเข้าหรือออกประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่ท่าอากาศยานอื่น เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน
- ปรับลดค่าบริการเดินอากาศ (Air navigation service charge) ในอัตรา 50% เที่ยวบินในประเทศ ลดลง 20% สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ
- ปรับลดค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกนอกประเทศ (Regulatory fee) ที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารคนละ 15 บาท ลดเป็น 10 บาท
- ขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น จากเดิมมีผล 30 กันยายนเป็น 31 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ กรมอากาศยานขอรับเงินอุดหนุน 500 ล้านบาท และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ขอรับเงินอุดหนุน 700-1,000 ล้านบาท จากการนำรถโดยสารไปให้บริการรรับส่งผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า การบินไทยได้แจ้งไปยังสถานทูตไทยในต่างประเทศว่าจะหยุดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศชั่วคราวเช่นกัน โดยจะยกเลิกบินเส้นทางยุโรปตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคมนี้ และยกเลิกบินเส้นทางภูมิภาคทั้งหมดตั้งแต่ 25 มีนาคม – 31 พฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ การบินไทยมีภาระต้นทุนเครื่องบินในปัจจุบัน 100 ลำ ต้นทุนการดำเนินงานสูงมาก จากรายงานงบการเงินปี 2562 ระบุว่า การบินไทยมีต้นทุนดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมัน 1.37 แสนล้านบาท เฉลี่ย 1.15 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ว่าจะไม่ได้ทำการบิน
ที่มา – ไทยรัฐ, ฐานเศรษฐกิจ, ประชาชาติธุรกิจ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา