วิกฤต Subprime 2008 VS COVID-19 2020 | BI Opinion

โดย สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

หลังจากที่ตลาดการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ อยู่ในภาวะกระทิงมาถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2009 – 2019 ตลาดการเงินทั่วโลกก็ต้องมาพบกับภาวะตลาดหมีอย่างจริงจัง ดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 ปรับตัวลดลงมาที่ระดับเมื่อตอนเดือนธันวาคม 2018 อีกครั้ง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ต้องรีบลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา โดยประกาศลดดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินถึง 2 ครั้งและกดดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ระดับ 0 – 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดอีกครั้งเหมือนเมื่อตอนเดือนธันวาคม 2008 ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับวิกฤต Subprime

ภาพจาก Shutterstock

เรามาย้อนอดีตกันอีกสักครั้งว่าวิกฤต Subprime เกิดขึ้นได้อย่างไร และทางสหรัฐฯ มีแนวทางในการแก้ไขวิกฤตอย่างไร

  1. ชื่อของ subprime ก็บอกอยู่แล้วในตัวของมัน คือมันเป็นหนี้ที่เกิดจากกลุ่มลูกค้าที่มีสถานะทางการเงินที่ไม่ดีพอที่จะกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยปกติ ดังนั้น ลูกค้ากลุ่มนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าปกติเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์
  2. การกู้เงินในระดับ subprime เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวอย่างสูงเนื่องจากราคาของอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน เหมือนกับเป็นสินทรัพย์ที่ซื้อเมื่อไหร่ก็กำไรเมื่อนั้น การควบคุมจากทางภาครัฐก็ยังไม่มี ส่งผลให้หนี้คุณภาพต่ำมีปริมาณที่สูงมาก
  3. นอกจากจะเป็นหนี้ที่คุณภาพต่ำแล้ว ยังมีการเอามาผูกกันและออกเป็นตราสารทางการเงินอย่าง MBS และมีตราสารอนุพันธ์ที่มีพลังทำลายล้างในระดับสูงมาผูกกับสินทรัพย์ตัวนี้อีก
  4. Fed ต้องการที่จะลดความร้อนแรงของตลาดที่อยู่อาศัยลงจึงได้มีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราหนี้เสียในกลุ่ม subprime สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  5. เมื่อหนี้เสียเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้ากลุ่ม subprime ก็โดนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น สภาพคล่องตึงตัว และทำให้ LIBOR อัตรากู้ยืมเงินระหว่างสถาบันการเงินพุ่งสูงขึ้นจากระดับ 2% มาที่ระดับ 7%
  6. Ben Bernanke อดีตประธาน Fed ยืนยันว่าปัญหา subprime จะไม่ลุกลาม
  7. ในช่วงกลางปี 2008 ปัญหา subprime เริ่มส่งผลต่อตลาดการเงินทั่วโลกอย่างรุนแรง สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มขาดสภาพคล่อง Fed ต้องเริ่มเข้ามาช่วยเหลือ Fannie Mae และ Freddie Mac หลังจากนั้นไม่นาน Lehman Brothers ก็ล้มละลาย
  8. ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง สภาคองเกรซได้ผ่านงบเงินเพื่อช่วยเหลือธนาคารหรือที่เรียกว่า Bailout เป็นจำนวนเงิน 700,000 ล้านเหรียญ แต่ตลาดก็ยังปรับตัวลดลงอยู่ และมีการอัดฉีดสภาพคล่องออกมาเพิ่มไม่ว่าจะเป็นวงเงินเพื่อช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงินระยะสั้น ปัญหาที่หนักหนาที่สุดในช่วงนั้นคือ การขาดสภาพคล่อง ทำให้เกิดการเทขายหุ้นและตราสารหนี้อย่างหนักทุกราคา
  9. เดือนธันวาคม 2008 Fed ได้หั่นดอกเบี้ยลงมาที่ระดับ 0 – 0.25% และได้ออกวงเงิน Bailout เพื่อช่วยเหลือธุรกิจในกลุ่มธนาคารและยานยนต์ สหรัฐฯ ผ่านวิกฤตไปได้
  10. เข้าปี 2009 ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ยังปรับตัวลดลงอยู่ แต่พอธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ผ่าน Stress Test และได้ออกมาตรการ QE ออกมาอีก 3 ช่วงเวลา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกก็มาถึงจุดเริ่มต้นของตลาดกระทิงรอบใหญ่ถึง 11 ปี

**จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกผ่านวิกฤต subprime ไปได้คือการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed ทำให้สถาบันการเงินรอดพ้นจากภาวะขาดสภาพคล่อง และสามารถผ่าน Stress Test ได้ เมื่อธนาคารซึ่งเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจที่มีหน้าที่ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีสถานะที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็กลับมา**

ภาพจาก Shutterstock

ปี 2020 ตลาดการเงินทั่วโลกโดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ที่จะเรียกว่า “วิกฤต” ก็คงจะไม่มากเกินไป การระบาดของโรค COVID-19 อยู่ในระดับที่เรียกว่า Pandemic หรือระบาดในระดับโลก ปัจจัยที่ไม่ได้มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเหมือนวิกฤตในปี 2008 แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับสูงมาก ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง มาดูกันว่าทำอะไรกันไปแล้วบ้าง และจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้

  1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ปรับลดดอกเบี้ยลงมาสู่ระดับต่ำที่สุดที่ 0 – 0.25% อีกครั้ง ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ ปรับลดดอกเบี้ยตามลงมา หลายๆ ประเทศรวมถึงไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
  2. นอกจากปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ยังมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมอีกทั้งจาก Fed ECB PBoC และ BOJ
  3. รัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนที่จะออกแพคเก็จกระตุ้นด้านการคลังชุดใหญ่มูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ
  4. ประเทศจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นผลสำเร็จ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อวันเหลือเพียง 10 กว่าคน ผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษาและกักตัวลดลงเหลือเพียง 7,000 คน โรงพยาบาลสำหรับรักษา COVID-19 ปิดไปแล้วทั้งหมด จีนเริ่มส่งเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหน้ากากอนามัยด้วย
  5. ประเทศเกาหลีใต้ การระบาดของโรคในวงกว้างช้ากว่าที่จีนประมาณ 1 เดือน แต่ก็สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันลดลงมาที่ระดับต่ำกว่า 100 คน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขที่ควบคู่ไปกับการอัพเดทสถานการณ์ทำให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ไม่ตระหนกมากเกินไป รวมไปถึงราคาการตรวจโรคที่เอื้อมถึง ทำให้คนเกาหลีใต้ตื่นตัว เข้ารับการตรวจ และไม่กังวลต่อการระบาดมากเกินควร ซึ่งโมเดลของเกาหลีใต้คงจะเป็นแนวทางที่ประเทศอื่นๆ จะดำเนินรอยตาม
  6. วัคซีนสำหรับโรค COVID-19 จะออกมาภายในปีนี้ สถานการณ์ในตอนนี้ต่างจากครั้งที่โรค SARs ระบาด วัคซีนไม่ต้องเริ่มจาก 0 ดังนั้น วัคซีนน่าจะพัฒนาได้เร็วกว่าพอสมควรและอาจจะออกมาได้เร็วกว่าที่คาดกันไว้
ภาพจาก Shutterstock

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพียงพอ รวมถึงมาตรการทางการคลังที่เข้ามาช่วยธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตนี้ไปได้ ความเชื่อมั่นก็จะค่อยๆ กลับมา เมื่อนั้น ตลาดการเงินทั่วโลกก็จะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

ความเชื่อมั่นและศรัทธาคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะผลักดันตลาดการเงินให้ไปข้างหน้าได้ การที่ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ผ่าน Stress Test ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนกลับมา ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ เริ่มที่จะควบคุมได้ ภาคการผลิตและบริการกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ การท่องเที่ยวเริ่มคึกคักขึ้น ข่าวความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนออกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อนั้น ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนจะกลับมาครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา