ช่วงนี้กระแสการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เริ่มมาแรงเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานที่บ้านคือ การทำงานที่บ้านสบายกว่าการทำงานในที่ทำงาน จะดูหนัง ฟังเพลง ใส่ชุดนอนทำงาน หรือแม้แต่พักบ้างระหว่างทำงาน ก็ทำได้
Nicholas Bloom ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐเมริกา (National Bureau of Economic Research) พบว่าการทำงานที่บ้านได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกลายเป็นเรื่องปกติของการทำงานทั่วโลก ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจำนวนคนที่ทำงานที่บ้านในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว
แม้ว่าหากคิดเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์อาจดูน้อย เพียงแค่ 2.4% เท่านั้น แต่ถ้าเทียบกับคนทำงานในสหรัฐอเมริกาที่มีกว่า 150 ล้านคน จำนวนคนที่ทำงานที่บ้านจะมีมากถึง 3.6 ล้านคน ในขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนามีคนกว่า 10-20% กำลังทำงานที่บ้าน แม้จะเป็นแค่บางวันไม่ใช่ทุกวันก็ตาม
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของการทำงานที่บ้านคือ ใครๆ ก็สนับสนุนการทำงานที่บ้าน มีแต่คนบอกข้อดี แต่ไม่มีใครกลับพูดถึงข้อเสียมากนัก ดังนั้นสิ่งที่ควรทำต่อไปคือ ต้องมีการศึกษา และวิจัยการทำงานที่บ้านในระยะยาว โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทที่อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน
Jame Liang ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ Ctrip บริษัทนำเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เป็นหนึ่งในคนที่อยากให้พนักงานของตัวเองทำงานที่บ้าน เพราะค่าเช่าพื้นที่สำนักงานในประเทศจีนมีราคาแพงมาก รวมถึงเจอปัญหาพนักงานลาออกจากงานบ่อย เพราะการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ค่อนข้างยาก ทั้งการเดินทางที่ลำบาก และใช้เวลานาน แต่หลายๆ บริษัทก็ยังคงให้พนักงานมาทำงานที่สำนักงานเหมือนเดิม เพราะไม่มีผลการศึกษาเรื่องการทำงานที่บ้านอย่างจริงจัง
Bloom และ Liang จึงร่วมกันจัดการทดลองการทำงานที่บ้านขึ้น โดยใช้พนักงาน Call Center ของ Ctrip กว่า 500 คน แบ่งเป็นคนที่ต้องทำงานที่บ้าน และคนที่ยังต้องทำงานที่สำนักงานเหมือนเดิมอย่างละเท่าๆ กัน ซึ่งพนักงานที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำงานที่บ้านต้องมีห้องส่วนตัวเป็นของตัวเอง ในตอนแรก มีความกังวลว่าพนักงานจะสามารถทำงานได้จริงๆ โดยไม่โดนสิ่งยั่วยุภายในบ้านอย่าง ทีวี ตู้เย็น และเตียงนอนรบกวนการทำงาน
ผลจากการทดลองพบว่า Ctrip สามารถประหยัดเงินค่าเช่าพื้นที่สำนักงานได้มากถึง 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 60,815 บาท ต่อพนักงาน 1 คนตลอดระยะเวลาการทดลอง 6 เดือน ไม่ใช่แค่การประหยัดต้นทุนเท่านั้น แต่ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพิ่มขึ้นกว่า 13.5%
เมื่อเทียบกับพนักงานที่ทำงานที่สำนักงานเหมือนเดิม เหมือนได้วันทำงานจากพนักงานเพิ่มอีก 1 วัน แม้จะใช้เวลาทำงานเท่าเดิม นอกจากนี้พนักงานที่ทำงานที่บ้านยังมีแนวโน้มที่จะลาป่วยน้อยลง และมีความพึงพอใจกับงานที่ทำมากกว่าอีกด้วย ส่วนปัญหาพนักงานลาออกบ่อยๆ ก็ลดลงกว่า 50% เช่นกัน เมื่อเทียบกับพนักงานที่ทำงานในสำนักงาน
จากการทดลอง และการศึกษาหลายๆ ครั้งการทำงานที่บ้านดูเหมือนจะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหรือบริษัทมากกว่าจะเป็นผลเสีย แต่บริษัทก็ไม่จำเป็นจะต้องอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านในทุกกรณีก็ได้ เพราะหลายๆ บริษัทก็ให้การทำงานที่บ้านเป็นทางเลือก หรือ Option ที่เปิดอิสระให้กับพนักงาน
เช่น ในวันที่ฝนตกหนัก สภาพอากาศไม่ดี หรือในช่วงที่ลูกๆ ของพนักงานปิดเทอม และไม่มีคนดูแล ก็อนุญาตให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้านได้ หรือแม้แต่เป็นโบนัส และรางวัลแก่พนักงานที่มีผลงานดี ซึ่งหากประสิทธิภาพการทำงานลดลงจากการทำงานที่บ้าน บริษัทสามารถให้พนักงานคนนั้นกลับมาทำงานที่สำนักงานตามเดิมได้
ทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของบริษัท อาจสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับพนักงานด้วยการอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน 1-2 วันต่อสัปดาห์ก็ได้ เพื่อใช้ดึงดูดพนักงานเก่งๆ ให้เข้ามาทำงานกับบริษัท เพราะเหตุผลที่พนักงานต้องเข้ามาทำงานที่บริษัท 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นแนวคิดเก่าของการทำงานในโรงงาน
ที่มา – TED
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา