ผลสำรวจชี้ คนไทยกังวลโควิด-19 ไม่มั่นใจการรับมือของรัฐ ไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเร็ว

ปับลิซีส กรุ๊ป เผยผลสำรวจความวิตกกังวลของผู้บริโภคไตรมาส 1 พบว่า มีความกังวลโควิด-19 สูงสุด 92% ส่งผลให้ผู้บริโภคลดพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตในที่สาธารณะ เน้นใช้ชีวิตในบ้าน ซื้อของและสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น 

ทั้งนี้ อติพล อิทธิวัฒนะ เฮด ออฟ มีเดีย – ปัปลิซีส กรุ๊ป (Head of Media-Publicis Group) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 ไทยเกิดประเด็นสาธารณะที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยต่อเนื่อง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภูมิอากาศ และสุขภาพ ทำให้สังคมตื่นตัวและเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต 

Bangkok Thailand People Face Masks Coronavirus
ภาพจาก Shutterstock

โดยแผนก Data Science Analytic & Consumer ได้สำรวจความวิตกกังวลของผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 403 ราย พบว่า 

  • คนกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 สูงสุก 92% 
  • ตามด้วยกังวลเศรษฐกิจ 85% 
  • กังวลความไม่ปลอดภัยในชีวิต มีการกราดยิงในที่สาธารณะติดๆ กันและกังวลสถานการณ์ทางการเมืองพอๆ กัน 40% 
  • กังวลภัยแล้ง 20% และ
  • กังวลสวัสดิภาพการทำงานและการเรียน 17%

กลุ่มตัวอย่างตระหนักและตระหนกการขยายตัวเป็นวงกว้างของโควิด-19 รวมทั้งการรับข้อมูลอย่างมากมายมหาศาลทุกช่องทางทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลใจมากขึ้น ตลอดจนไม่มั่นใจมาตรการรับมือของภาครัฐในการจัดสินค้าเกี่ยวกับการป้องกัน

เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือที่ยังขาดตลาดและมีราคาแพง การไม่เปิดเผยข้อมูลผู้ที่กลับจากประเทศที่มีความเสี่ยง การกลับมาของผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศเสี่ยงอีก ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก 

คนกรุงเทพและปริมณฑลลมีความกังวลเรื่องไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนในต่างจังหวัด ผู้หญิงกังวลมากกว่าผู้ชาย 40% การเข้าใช้บริการในสถานที่ผู้คนมาก ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ชอปปิง มอลล์ ลดลง 73% การเข้าร่วมชมงานอีเวนท์ หรืองานเอ็กซ์โปต่างๆ ลดลง 59% ตลาดนัดลดลง 57% ไฮเปอร์มาร์เก็ตลดลง 56% สถานที่อื่นๆ ลดลงด้วยคือโรงพยาบาลและธนาคารลดลง 52% โรงภาพยนตร์ลดลง 50%

พฤติกรรมการรับสื่อเปลี่ยน เน้นติดตามข่าวสารผ่านสื่ออนไลน์มากขึ้น ทั้งจากเพจสำนักข่าว ทั้งแพลตฟอร์ม Facebook Twitter ของสื่อต่างๆ เพราะเชื่อถือได้มากที่สุด จากการสำรวจการรับข่าวสารจากสื่อช่วงนี้ พบว่า Twitter เติบโตสูงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อออนไลน์สูงถึง 57%

ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเพิ่มสูงขึ้น หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สะท้อนผ่านพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ผู้บริโภคเริ่มซื้อสินค้าที่เก็บได้นานมากขึ้น เช่น อาหารแห้ง อาหารแช่แข็ง เก็บไว้ได้นานไม่ต้องออกจากบ้านบ่อย เผื่อเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ สินค้าที่ซื้อเก็บไว้ ส่วนใหญ่คือผลิตภัณฑ์ป้องกัน เช่น เวชภัณฑ์ อาหารแห้ง น้ำดื่ม ของใช้ส่วนตัว อาหารสำหรับเด็ก และของใช้ในบ้าน ฃ

นอกจากนี้ยังพบว่า 50% ต้องออมเงินไว้ เพราะไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลง สินค้าราคาแพง สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าทดแทนของที่มีอยู่ ก็เลื่อนการซื้ออกไปก่อน เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนและทองคำ ขณะที่สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้นมาก เช่น กลุ่มประกันสุขภาพและประกันชีวิต

ดังนั้น การวางแผนสื่อโฆษณา จำเป็นต้องพิจารณาการใช้สื่อออนไลน์ในช่วงที่ผู้บริโภคอยู่บ้านก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ รวมทั้งพิจารณาให้ความสำคัญสื่อ Twitter สื่อโทรทัศน์ สำนักพิมพ์ และรายการข่าวเพิ่มมากขึ้นด้วย

ที่มา – Publicis Media

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์