Credit Suisse ออกบทวิเคราะห์หุ้นไทยในวันนี้อธิบายถึงสาเหตุที่หุ้นไทยตกหนักในช่วงที่ผ่านมา แต่เริ่มมองว่า Valuation ของหุ้นไทยน่าสนใจแล้ว
Credit Suisse ได้ออกบทวิเคราะห์กลยุทธ์หุ้นไทยโดยกล่าวถึงสถานการณ์ของหุ้นไทยในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ลดลงนับตั้งแต่ต้นปีที่ -26% กลายเป็นผลตอบแทนแย่ที่สุดในทวีปเอเชีย เมื่อเทียบกับดัชนี MSCI Asia ex Japan ที่ลดลงเพียง -10% เท่านั้น โดยมีหลายปัจจัยที่กระทบต่อหุ้นไทยอย่างมาก
- มาทำความเข้าใจโครงสร้างตลาดหุ้นไทย กองทุน หรือ ต่างชาติ ที่เป็นคนผลักดัน SET Index
- ครั้งที่ 4 ประวัติศาสตร์หุ้นไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ หยุดพักซื้อขาย อินโดฯ ฟิลิปปินส์ก็โดนด้วย
- บล. ภัทร ปรับเป้า GDP ไทย “ติดลบ 0.4%” มองหุ้นไทยอยู่ในช่วง 1,080-1,310 จุด
สถาบันการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ได้วิเคราะห์ไว้ถึง 5 ปัจจัยที่ทำให้หุ้นไทยตกลงและทำผลงานได้แย่กว่าตลาดอื่นๆ ในเอเชียจนทำให้เกิดการเทขายในช่วงที่ผ่านมาอย่างหนัก ประกอบไปด้วย
- ปัจจัยพื้นฐานที่แย่ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ของ COVID-19 แพร่ระบาด ตลาดหุ้นไทยถือว่ามีปัจจัยประกอบที่อ่อนแอ โดยเฉพาะกำไรของบริษัทจดทะเบียน ส่งผลทำให้ P/E ของตลาดหุ้นไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงค่าเงินที่แข็งค่ามากเกินไป
- ไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป โดยเมื่อเทียบสัดส่วน GDP นั้น ภาคการท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนถึง 12% มากที่สุดในเอเชีย (และมากกว่าฮ่องกงด้วยซ้ำ) ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก
- ดัชนีหุ้นไทยมีกลุ่มพลังงานถ่วงน้ำหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่ม ปตท. แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูง แต่กลับเป็นประเทศที่มีหุ้นกลุ่มพลังงานใหญ่อันดับต้นๆ ในดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สภาพคล่องน้อย โดยอย่างยิ่งเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อนักลงทุนต้องการขายสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูง จะเห็นว่าตลาดหุ้นไทยและฟิลิปปินส์จะประสบปัญหาสภาพคล่อง ส่งผลทำให้นักลงทุนสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น คือการเทขายหุ้นออกมาที่ราคาต่ำกว่านั้น
- ข่าวร้ายจาก COVID-19 ที่แพร่ระบาดในไทยจำนวนเพิ่มมากขึ้น ยิ่งส่งผลทำให้ตลาดตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทางลบ
นอกจากนี้ Credit Suisse ยังมองว่าสถานการณ์ภาพรวมยังแย่อยู่ต่อไป อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีสภาพคล่องดีกว่าในขณะนี้ ขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นนักลงทุนชาวไทยมองว่าน่าจะตอบรับในทางลบมากกว่า
อย่างไรก็ดี Credit Suisse เริ่มมองว่า P/E ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำสถิติต่ำสุดในรอบ 6 ปีเมื่อเทียบกับดัชนี MSCI Asia ex Japan ขณะที่ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีครั้งแรกในรอบ 4 ปีไปแล้ว โดยปัจจัยบวกของตลาดคือราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวกลับมา
ที่มา – บทวิเคราะห์จาก Credit Suisse
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา