Economic Intelligence Center แห่ง SCB ประเมินภัยแล้งจะอยู่กับเรายาวไปจนถึงเดือนมิถุนายน ภัยแล้งปี 2020 นี้ มาเร็ว รุนแรง และมีแนวโน้มจะยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา
ระดับเก็บกักของน้ำในเขื่อนหลายภูมิภาคเริ่มลดลงก่อนจะผ่านพ้นช่วงฤดูฝน ทำให้เห็นว่าไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งเร็วกว่าปกติ ข้อมูลจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานสถานการณ์ภัยแล้งช่วงกันยายน 2019-กุมภาพันธ์ 2020 พื้นที่ทางเกษตรได้รับความเสียหายรวม 1,624,501 ไร่ ดังนี้
- พื้นที่เพาะปลูกข้าว 1,442,674 ไร่ 89% ของพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายโดยรวม
- พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 180,684 ไร่
- พื้นที่เพาะปลูกพืชสวนและอื่นๆ อีก 1,143 ไร่
ระดับน้ำเก็บกักของน้ำในเขื่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2019 (ปีที่แล้ว พ.ศ. 2562) พบว่ามีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย คือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ขณะที่ภาคกลางเผชิญภาวะน้ำในเขื่อนน้อยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว โดยปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และยังต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักของปี 2014 (พ.ศ. 2557) ที่เป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีอีก สะท้อนให้เห็นว่าไทยกำลังเผชิญภัยแล้งระดับรุนแรง
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรไทย ผลผลิตการเกษตรไทย ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สัดส่วนจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืช 5 ชนิดดังกล่าวรวมกันคิดเป็น 97% ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ และยังจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อย มันสำปะหลังด้วยเพราะมีการเพาะปลูกมากในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ข้าวนาปรังเริ่มเพาะปลูกช่วงปลายปี 2019 อ้อยและมันสำปะหลังเพาะปลูกได้ทั้งปี แต่ะผลผลิตของทั้งหมดนี้จะออกสู่ตลาดตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน 2020 ในปริมาณมาก (ซึ่งเป็นช่วงที่มีภัยแล้ง)
EIC ประเมินว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มก่อความเสียหายกับผลผลิตอ้อย ข้าวนาปรังมากที่สุด การเพาะปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2019 ส่งผลให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2019/2020 ลดลงมาก EIC คาดว่า กรณีร้ายแรงสุด ปริมาณอ้อยเข้าหีบสำหรับผลิตน้ำตาลฤดูการผลิต 2019/2020 อาจลดลงมากถึง 25 ล้านตัน หรือ 27% ของการผลิตอ้อยโดยรวม
ทำให้มีปริมาณอ้อยที่เข้าสู่การผลิตน้ำตาลเหลือ 75 ล้านตัน หดตัว 43% จากฤดูการผลิตที่ผ่านมา ถ้าภัยแล้งลากยาวถึงเดือนมิถุนายน โรงงานน้ำตาลอาจเผชิญความเสี่ยงขาดแคลนอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตต่อไป
ผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในภาคกลางที่เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวนาปรังที่สำคัญ ระดับน้ำในเขื่อนปัจจุบันน้อยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ซึ่งช่วงครึ่งแรกของปีเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดในปริมาณมาก มีแนวโน้มได้รับความเสียหายมาก กรณีร้ายแรง ภัยแล้งยาวนานถึงมิถุนายน 2020 ผลผลิตข้าวนาปรังอาจลดลงมากถึง 9 แสนตัน คิดเป็น 21% ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังโดยรวม
ข้าวนาปรังคิดเป็น 20% ของปริมาณผลิตข้าวไทยโดยรวม ข้าวส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นข้าวนาปี ผลจากภัยแล้งกรณีร้ายแรงอาจส่งผลให้ผลิตข้าวนาปีและนาปรังรวมกันเหลือ 28-29 ล้านตันลดลงจากปีปกติที่ผลิตได้รวม 32-33 ล้านตัน
ผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชทนแล้ง จะได้รับผลกระทบภัยแล้งน้อยกว่าพืชชนิดอื่น EIC คาดกรณีร้ายแรงสุด ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2019/2020 อาจลดลง 1.8 ล้านตัน คิดเป็น 7% ของปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโดยรวม
ผลผลิตอ้อย ข้าว มันสำปะหลังมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น
ปริมาณผลผลิตลดลงจากภัยแล้งรวมเข้ากับอานิสงส์จากทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก และราคาน้ำตาลในไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในการผลิตปี 2019/2020 น่าจะไม่ต่ำกว่า 800 บาท/ตัน ปัจจุบันราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 750 บาท/ตัน
ข้าวขาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 8,000 บาท/ตัน ขยายตัว 2% จากปี 2019 อยู่ที่ 7,812 บาท/ตัน ผลผลิตข้าวไทยปี 2020 มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก การแข่งขันในตลาดข้าวโลกที่รุนแรงและสต็อกข้าวโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยกดดันให้ราคาข้าวไทยขยายตัวเล็กน้อย
ราคามันสำปะหลังปี 2020 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 2.4 บาท/ กิโลกรัม ขยายตัว 16% จากปี 2019 อยู่ที่ 2.0 บาท/ กิโลกรัม ผู้ผลิตและส่งออกมันสำปะหลังที่สำคัญในไทย เวียดนาม กัมพูชา กำลังเผชิญการระบาดของโรคใบด่าง ส่งผลให้การผลิตมันสำปะหลังโลกมีแนวโน้มลดลง รายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลังปรับตัวลดลงซึ่งมีสัดส่วนเป็น 72% ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ
เมื่อรายได้ลดลงก็ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อจากผู้บริโภคกลุ่มเกษตรกร ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค รถจักรยานยนต์ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช รายได้เกษตรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันปี 2020 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่แรงกดดันจากราคายางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจะได้รับปัจจัยหนุนทิศทางราคาปาล์มน้ำมันที่มีแนวโน้มดีขึ้น
มาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2019 มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรประมาณ 1-2% เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการประกันรายได้เกษตรกร
ผลกระทบภัยแล้งที่ส่งผลเสียหายต่อผลผลิต ทำให้มาตรการดังกล่าวไม่ได้ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรเต็มที่ EIC มองว่า ภาครัฐควรพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผลกระทบจากภัยแล้ง บรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเพิ่มเติม อาจให้เกษตรกรลดการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก
ภัยแล้ง น้ำท่วมล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องได้รับการแก้ไขควบคู่การพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน จัดสรรน้ำ ส่งเสริมการใช้น้ำในภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วางแผนเพาะปลูกให้เหมาะสมมากขึ้น หันมาใช้การปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในพื้นที่แล้งซ้ำซาก
ที่มา – SCB EIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา