You Are What You Work ทำงานแบบไหน เป็นคนแบบนั้น เรียนรู้วิธีบาลานซ์ชีวิตให้สมดุลกับงาน

ในยุคปัจจุบัน หลายองค์กรมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ทั้งเรื่องเวลาในการเข้างาน ทั้งวันลาพักร้อนที่มีไม่จำกัด หรือแม้แต่ทำงานที่บ้าน (Work from Home) แต่ความยืดหยุ่นนี้ไม่ได้มีแต่ข้อดีเท่านั้น เพราะทำให้เราไม่สามารถแยกเวลาทำงานออกจากเวลาพักผ่อนได้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดคำใหม่ๆขึ้นมา คือ You are what you work คุณทำงานยังไง คุณก็เป็นแบบนั้น 

ภาพจาก pixabay.com

จากผลการสำรวจของ Centre for Future Work ประเทศออสเตรเลีย พบว่า โดยส่วนใหญ่แล้วชาวออสเตรเลีย ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้เงินค่าตอบแทนเพิ่มมากถึง 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการเอางานกลับมาทำที่บ้าน อยู่ทำงานที่ออฟฟิศต่อจนดึก หรือทำงานในช่วงเวลาพักกินข้าว

บริษัทที่ให้ความยืดหยุ่นกับพนักงาน ย่อมคาดหวังว่าพนักงานจะมีความยืดหยุ่นกับบริษัทเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะต้องติดต่อ และตามงานกันได้ตลอดเวลา จนเส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาพักผ่อนค่อยๆ เลือนหายไป แม้ว่าหลายๆ บริษัทจะมีนโยบายให้พนักงานแบ่งเวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุล แต่พนักงานบางคนกลับรู้สึกว่าการทำงานหนัก คือการแสดงออกถึงความทุ่มเทที่มีให้กับบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างตัวเองกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ

จากผลการสำรวจพบว่าชาวออสเตรเลียกว่า 20% ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกว่า 60% ไม่เคยใช้สิทธิลาพักร้อนเลย ชีวิตของเราผูกติดอยู่กับการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะไม่สามารถแยกการทำงานออกจากชีวิตด้านอื่นได้อีกแล้ว นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังเชื่อว่างานที่เราทำ วัฒนธรรมขององค์กรอยู่ หล่อหลอมนิสัยแบบนั้นให้ติดตัวเรา หรือ You are what you work คุณทำงานยังไง ตัวคุณก็เป็นแบบนั้น

ตัวอย่างของ You are what you work คุณทำงานยังไง ตัวคุณก็เป็นแบบนั้น นักจิตวิทยายกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการทำงานส่งผลต่อตัวเรา ดังนี้ หากเราเป็นคนสะเพร่า แต่ได้ทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ และต้องทำงานอย่างรวดเร็ว เราจะปรับตัว พัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อดีคือการที่เราได้พัฒนาศักยภาพตัวเองให้สามารถทำงานได้ แต่ข้อเสียคืองานอาจทำให้เราเครียด กดดัน และวิตกกังวล ย่อมส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตของเราด้วยแน่นอน

Workplace

เราจะมีวิธีจัดการกับการทำงานอย่างไร ไม่ให้มากลืนเวลาในการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ของเรา? ทางออกที่น่าสนใจ คือ ต้องรู้จักสร้างสมดุลระหว่างเวลาทำงาน กับเวลาพักผ่อน แน่นอนว่าถ้าด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ย่อมทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงด้วยแน่นอน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

ตัดขาดจากการทำงานบ้าง หลังเลิกงาน หรือวันหยุดลองปิดโทรศัพท์ ปิดการแจ้งเตือนอีเมลที่ใช้ทำงาน เพื่อพักผ่อนแล้วใช้เวลากับครอบครัว หรือเพื่อน

หากิจกรรมอย่างอื่นทำ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน นอกเวลางาน ลองหากิจกรรมที่คุณสนใจทำ และเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่าตั้งเป้าหมายว่าจะไม่สนใจเรื่องงาน เพราะเป็นการตั้งเป้าหมายในเชิงลบ ให้ลองเปลี่ยนเป็นตั้งเป้าหมายว่าจะทำกิจกรรมอย่างอื่นที่สนใจแทน ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬา หรืออ่านหนังสือบ้างก็ได้

The unbound book conference on reading and publishing in the digital age. http://www.e-boekenstad.nl/unbound Photo: Sebastiaan ter Burg

แยกให้ออกระหว่างเรื่องงาน กับความชอบ บางคนอาจได้ใช้ความชอบหรือความชำนาญของตัวเองมาเป็นงานที่สร้างรายได้ ทั้งสองสิ่งนี้บางครั้งก็สามารถแยกออกจากกันได้ บางคนมองว่างานคือสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม ความทุ่มเท มีการคาดหวังผลลัพธ์ที่ดี แลกกับเงินค่าตอบแทนที่ได้ ขณะที่บางคนมองว่าความชอบเป็นการทำเพื่อความสนุก ความบันเทิงเป็นหลัก บางครั้งคนที่ได้ใช้ความชอบทำงานยังอาจเกิดความเครียดจากการทำงานได้ เพราะงานไม่ได้สนุก และได้ผลอย่างที่ต้องการทุกครั้ง

แต่สำหรับคนที่ชอบทำงานและยังชอบเนื้อหางานที่ทำด้วย ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินกับการทำงานเพราะไม่รู้สึกว่าทำงานอยู่ เรื่องนี้ต้องแยกให้ออก ถ้ารู้สึกเหนื่อยเกินไปก็ต้องเรียนรู้ที่จะบาลานซ์เวลาชีวิตของตัวเอง

ความฝัน กับความจริงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ตอนเด็กๆ คุณอาจมีความฝันอยากเป็น จิตกร นักเขียน หรือแม้แต่นักบินอวกาศ แต่ในโลกแห่งความจริง ทุกคนจำเป็นต้องกินต้องใช้ ความกดดันในสังคมทำให้เราต้องเลือกทำงานที่ได้ค่าตอบแทนเพียงพอกับการใช้ชีวิตประจำวัน  บางคนได้ทำงานที่ไม่ใช่งานที่ฝัน บางคนได้ทำงานที่ฝัน ความรู้สึกก็ย่อมแตกต่างกัน ถ้าอยากหาความสุขในชีวิตให้เจอก็ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการความฝันและความจริงที่ชีวิตเราต้องเผชิญอยู่ให้ได้

ไม่มีงานอะไร เป็นงานที่ดีที่สุด หรือเป็นงานที่เลวร้ายที่สุด บางคนอาจบอกว่าพวกเขารักงานที่ทำมาก มีความสุขทุกครั้งที่ทำงาน แต่ในความจริงแล้วไม่มีงานไหนในโลกเป็นงานที่ดีที่สุด เพราะเหรียญย่อมมีสองด้าน งานที่คุณทำก็เช่นกัน ตอนนี้คุณอาจยังรู้สึกสนุกกับงาน แต่ในอนาคตไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าคุณจะยังรู้สึกเช่นเดิม เพราะความรู้สึกคนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

จงหาทางเรียนรู้ที่จะมองหาจุดดีจากงานที่เราทำ เพราะหลายคนอาจรู้สึกเครียดกับสภาวะบางอย่างจากเนื้องานนั้นๆ การได้เห็นจุดดีของงานที่เราทำ ก็จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นไปบ้าง

ชอบมากเกินไประวังทำงานหนักไม่รู้ตัว ถ้าคุณชอบงานที่กำลังทำอยู่ มีแนวโน้มว่าคุณจะทำมันออกมาได้ดี ได้รับคำชม หรือเติมเต็มอะไรบางอย่างในชีวิต ทำให้คุณรู้สึกอยากทุ่มเทกับงาน และทำงานหนักไปเรื่อยๆ เพื่อทำในสิ่งที่คุณชอบ แต่อย่าลืมว่าการทำแบบนี้ไม่ดีกับร่างกายแน่นอน ควรทำงานอย่างพอดีแม้จะเป็นสิ่งที่คุณชอบทำก็ตาม

ที่มา – bigfishcreative, themuse

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา