ธนาคารโลก (World Bank) วิเคราะห์ความยากจนและแนวโน้มความเหลื่อมล้ำของไทยจากสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐพบว่า ไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากปี 2531 มีสัดส่วนความยากจนมากกว่า 65% ต่ำกว่า 10% ในปี 2561 ทั้งนี้ การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคได้หยุดชะงักลงทั่วประเทศ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของไทยถดถอยลง จำนวนประชากรยากจนเพิ่มขึ้น
ช่วงปี 2558-2561 อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 ราย เป็นมากกว่า 6,700,000 ราย ความยากจนนี้เพิ่มขึ้นในปี 2561 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วไทย
ปัจจุบัน จำนวนประชากรที่ยากจนในภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านคนในแต่ละภาค ในขณะที่อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2560
รายงานฉบับนี้วิเคราะห์ว่า ความยากจนที่เพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้ เกิดขึ้นพร้อมความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่ เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ 2.7% ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2562 ขณะเดียวกันภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เป็นกลุ่มยากจนที่สุดแล้ว
เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าวว่า “แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า แม้ไทยจะมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีระดับหนึ่ง แต่ครัวเรือนก็มีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ”
“การที่ไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าไว้ ครัวเรือนของไทยต้องได้รับการปกป้องจากการที่รายได้ครัวเรือนถูกปรับลดอย่างรุนแรง เช่น จากความเจ็บป่วย ตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ รวมทั้ง ต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพและงานที่มีค่าสูงกว่านี้”
จากสถิติพบว่า ไทยมีอัตราการยากจนเพิ่มขึ้น 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือปี 2561 และ 2559 รวมถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 3 ครั้งคือปี 2541, 2543 และ 2551 ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
ไทยมีตัวชี้วัดระดับสากลด้านภาวะความเป็นอยู่ที่ดี เช่น การเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย การมีน้ำใช้ สุขาภิบาล และการมีไฟฟ้าใช้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน อัตราความยากจนระดับรุนแรงของไทยใช้มาตรฐานสากลเป็นตัววัด คือ จำนวนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.90 เหรียญสหรัฐต่อวันมีจำนวน 0.03%
Protesters march on Ratchadamnoen Avenue in Bangkok today to call for more measures to help farmers, tackle inequality, and promote democratic rules. #Thailand #KE pic.twitter.com/88t2zEdcFJ
— Khaosod English (@KhaosodEnglish) September 9, 2019
ความเหลื่อมล้ำยังเป็นประเด็นสำคัญในไทย ความมั่นคงยังไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุด 40% ในช่วงปี 2558-2560 ประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ที่ติดลบด้วย แนวโน้มการเติบโตที่พลิกผันของกลุ่มประชากรเหล่านี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดจากรายได้แรงงานทุกประเภทลดลง รวมถึงการหยุดนิ่งของการเพิ่มค่าแรง และรายได้จากภาคเกษตรและธุรกิจลดลง
ความเหลื่อมล้ำเป็นเป็นประเด็นที่ต้องการรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงความเข้าใจเรื่องความเปราะบางเรื่องต่างๆ เพื่อที่ไทยจะได้ก้าวสู่การสร้างสังคมที่กระจายความมั่งคั่งได้ทั่วถึงทุกคน จู้ดี้ หยาง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าว
รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้มีมาตรการและการลงทุนเพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทยในระยะสั้น ไทยต้องบังคับใช้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม ต้องระบุประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้เที่ยงตรงกว่านี้ ต้องดำเนินอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างงานที่ดีกว่าให้กับครัวเรือนในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ในระยะยาว การลงทุนในคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียมกันถือเป็นประเด็นสำคัญ คนรุ่นต่อไปจะมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง เด็กทุกคนต้องได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียม ได้รับโอกาสทางสุขภาพและการศึกษาอย่างเสมอภาค เพื่อให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของพวกเขาไปถึงจุดสูงสุดได้ ประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้ครัวเรือนหลุดพ้นกับดักความยากจนจากคนรุ่นก่อนช่วยส่งเสริมคนสูงวัยและกระตุ้นโอกาสการเติบโตของไทยได้
ขณะที่ Bloomberg วิเคราะห์ว่า ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งค่าเงินบาทแข็ง ทั้งสภาวะฤดูแล้ง รวมถึงโควิด-19 ที่ระบาดจนส่งผลกระทบหนักทั้งต่อเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวของไทย
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ประวัติศาสตร์ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยและการที่ทหารยึดอำนาจ ทำรัฐประหารของทหารทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก (ดูกราฟวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ทรุดต่ำลงหลังทหารรัฐประหารได้ที่นี่) และยังพูดถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 ที่มีการยึดอำนาจโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นหัวคณะฯ ก่อนจะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งที่มีความขัดแย้งสูงเมื่อปลายปีที่ผ่านมาด้วย
ที่มา – Bloomberg, World Bank
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา