ในช่วงเดือนที่ผ่านมากระแสของโรค COVID-19 สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกคนอย่างมาก ทั้งตัวเลขผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก บางคนอาจถึงขั้นนอนไม่หลับ ไม่มีจิตใจทำงาน หรือทำงานได้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าเดิม
ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนี้ต้องอาศัยความความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหา ลดความกลัว คลายความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหาจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกปากชมในทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการขององค์การฯ
"#Singapore is leaving no stone unturned, testing every case of influenza-like illness and pneumonia. So far they have not found evidence of #COVID19 community transmission"-@DrTedros #coronavirus https://t.co/88KOFjssIO
— World Health Organization (WHO) (@WHO) February 18, 2020
กระทรวงสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์ใช้มาตรการขั้นสูงสุด เพื่อคัดกรองผู้ป่วยทั้งที่เข้าข่าย และไม่เข้าข่ายของโรค คือ แม้จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ก็ต้องได้รับการตรวจว่าเป็นโรค COVID-19 หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจไปแล้วกว่า 400 เคส รวมถึงออกมาตรการให้ผู้ที่เพิ่งกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด ต้องสังเกตอาการอยู่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน แต่มีข้อยกเว้นสามารถออกมาซื้ออาหาร และของใช้ได้บ้างตามความจำเป็น
ไม่ใช่แค่การคัดกรองผู้ป่วยเท่านั้น แต่การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน ดังนี้
ใช้ AI เพื่อแปลภาษา เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ ดังนั้นจึงมีการใช้ AI ช่วยแปลภาษาข้อความภาษาอังกฤษ เป็นภาษาจีน มาเลย์ และทมิฬ เพื่อความรวดเร็วในการกระจายข่าวสาร
ประชาชนสมัครรับข่าวสารได้ง่าย สามารถเลือกภาษาของข้อความที่ต้องการได้เอง และรัฐบาลสามารถจัดทำ Mailing list ได้ในเวลาเพียง 30 นาที เพราะข้อมูลของหน่วยงานรัฐสามารถเชื่อมต่อกันได้หมด
มีระบบส่งข้อความที่รวดเร็ว สามารถส่งข้อความหาประชาชนได้ 500 ข้อความในระยะเวลาเพียง 1 วินาที ทำให้ผู้สมัครรับข้อความจำนวน 5 แสนคน ได้รับข้อความในระยะเวลา 30 นาทีเท่านั้น
มีระบบรายงานตำแหน่งสำหรับประชาชนที่ต้องสังเกตอาการ โดยจะมีข้อความ SMS ส่งหาประชาชนที่ต้องสังเกตอาการสุ่มตามระยะเวลาในแต่ละวัน และจะรายงานตำแหน่งปัจจุบันกลับไปโดยอัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาอยู่บ้านจริงๆ
นอกจากนี้ยังมีระบบ Chatbot ที่คอยตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการป้องการระบาดเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ อธิบายข้อมูลแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
ความวิตกกังวลนี้เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ให้ความสนใจกับข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เราจึงเกิดความวิตกกังวลกับเรื่องร้ายๆ มากกว่าสนใจเรื่องดีในอีกแง่มุมที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน รวมถึงสื่อเองต่างช่วยนำเสนอข่าวประเภทนี้ทุกช่องทาง ไม่ใช่แค่เรื่องสถานการณ์โรค COVID-19 เท่านั้น แต่รวมไปถึงข่าวอื่นๆ เช่นภัยธรรมชาติ ไฟป่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และภาวะโลกร้อน ทำให้เราซึ่งเป็นผู้เสพข่าวสารเกิดความกลัว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหาทางควบคุมจิตใจ ไม่ให้วิตกกังวลมากเกินไป จะได้ใช้ชีวิตและทำงานได้อย่างปกติที่สุด ซึ่งทำได้ง่ายๆ ดังนี้
ความกลัวเป็นแค่สิ่งที่จิตใจสมมติขึ้น ความกลัวก็เป็นเหมือนภาพลวงตาที่ใจของเราสมมติขึ้นมา เราต้องรู้จักควบคุมความกลัวของเรา อย่าปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ
ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน อย่าคิดไปไกล นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Harvard ค้นพบว่ามนุษย์ใช้เวลากว่า 47% ในแต่ละวันไปกับความสับสนในจิตใจ คิดถึงเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกังวลไปก่อน ดังนั้นทางแก้ง่ายๆ คือต้องรู้จักอยู่กับปัจจุบัน อย่ากังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ให้โฟกัสกับภาระงานที่อยู่ตรงหน้าจะดีกว่า
หลีกเลี่ยงการเสพสื่อบ้างก็ได้ บางครั้งการติดตามข่าวสารมากเกินไปก็ทำให้เรารู้สึกกังวลกับสถานการณ์ ลองปิดโทรศัพท์ ไม่รับข่าวสารบ้าง จะช่วยลดความกังวลทำให้จิตใจผ่อนคลายได้บ้าง
สุดท้ายต้องรู้จักยอมรับความจริงให้ได้ ในเมื่อสถานการณ์โรค COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ตลาดหุ้นตกในหลายประเทศ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือ ยอมรับความจริง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ให้ดีที่สุด มีสติ ไม่ตื่นตระหนก เตรียมร่างกายให้พร้อม ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย นอนหลับให้เพียงพอ รวมถึงล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่อาจเข้าสู่ร่างกายเรา
ที่มา – inc, govinsider, channelnewsasia, npr, south china morning post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา