ผ้าอนามัยเป็นสิ่งของจำเป็นสำหรับชีวิตผู้หญิง รัฐบาลสกอตแลนด์มีวิสัยทัศน์จัดให้ผ้าอนามัยกลายเป็นสวัสดิการของรัฐได้ แม้จะต้องทุ่มเงินเกือบพันล้านบาทต่อปี ก็มีความสามารถในการจัดหาให้ประชาชนได้
ผู้หญิงทุกคนเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่ล้วนมีประจำเดือนหรือรอบเดือนคือภาวะที่มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด มามากมาน้อย แตกต่างตามสภาพร่างกาย แต่สิ่งสำคัญคือผู้หญิงแต่ละคนต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อผ้าอนามัย จ่ายมากจ่ายน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณของรอบเดือนด้วย แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องจ่าย ในส่วนนี้ยังไม่รวมถึงค่ายารักษาอาการปวดท้อง ปวดไมเกรน ฯลฯ ในช่วงที่มีรอบเดือนอีก ขณะที่ผู้ชายไม่ได้มีภาระด้านนี้
ล่าสุด รัฐสภาสกอตแลนด์ อนุมัติแผนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาให้ผู้หญิงทุกคนในประเทศสามารถใช้ผ้าอนามัยได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นชาติแรกในโลกที่คิดการใหญ่และมีแนวคิดที่ก้าวหน้ามาก คาดว่าจะมีการนำผ้าอนามัยไปวางตามแหล่งชุมชนให้ผู้หญิงสามารถหยิบใช้ได้ฟรี โดยที่ไม่ต้องมีคนมาคอยยืนแจก รัฐบาลประเมินต้นทุนแล้วพบว่าต้องใช้เงินอยู่ที่ 24.1 ล้านปอนด์ หรือ 31.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 980 ล้านบาทต่อปี
ICYMI: The Scottish parliament passed a bill Tuesday to make free period products available to all women in the nation.
MSP @MonicaLennon7 put the bill forward pic.twitter.com/lsMgOHeUd6
— Bloomberg Quicktake (@Quicktake) March 1, 2020
การผ่านกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถใช้ผ้าอนามัยได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ มีเสียงโหวตเห็นด้วย 112 ราย ไม่มีเสียงค้านแม้แต่เสียงเดียว มีงดออกเสียง 1 ราย ขั้นตอนต่อไปอยู่ในช่วงพิจารณา สามารถแก้ไขญัตติได้
Well played @StJohnstone ?#OnTheBall #FreePeriodProducts #PeriodDignity ⚽️??????? https://t.co/vy29qvZRy0
— Monica Lennon (@MonicaLennon7) March 2, 2020
Monica Lennon สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคแรงงาน เป็นแกนหลักที่ผลักดันเรื่องนี้ ประเด็น Period Poverty หรือการยุติความยากจนจากการที่ผู้หญิงต้องควักเงินจ่ายกับรอบเดือนด้วยการแจกผ้าอนามัยฟรีนี้ คือการทำให้ผ้าอนามัยฟรีกลายเป็นสวัสดิการของรัฐที่ผู้หญิงทุกคนในสกอตแลนด์สามารถเข้าถึงได้
ผู้หญิงหลายคนต้องลำบากเพราะมีรายได้ไม่พอจ่ายค่าผ้าอนามัย ราคาเริ่มต้นสำหรับในประเทศไทย 45 บาทขึ้นไป ความลำบากในการต้องแบกภาระเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผ้าอนามัยและรอบเดือนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศที่ด้อยพัฒนา ประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ยังรวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย
ผลสำรวจจากผู้หญิงรายได้ต่ำจำนวน 183 รายในสหรัฐอเมริกาช่วงกรกฎาคม 2017 ถึง มีนาคม 2018 พบว่า มีจำนวน 2 ใน 3 ราย ไม่สามารถซื้อหาผ้าอนามัยมาใช้ได้ โดยผู้หญิง 1 ใน 5 รายให้สัมภาษณ์ว่าพวกเธอมีปัญหาทุกเดือน หลายคนต้องใช้เศษผ้า ผ้าอ้อม กระดาษทิชชู กระดาษชำระในห้องน้ำมารองรับรอบเดือนที่มาทุกๆ เดือนแทนผ้าอนามัย นอกจากนี้ ผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งที่มีรายได้ต่ำ บอกว่าเธอไม่มีเงินมากพอที่จะหาซื้อทั้งอาหารและผ้าอนามัย
Anne Sebert Kuhlmann รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยด้านสาธารณสุขและความยุติธรรมในสังคมแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่มันเป็นความจำเป็น ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องใช้มัน
See our display of books on attitudes and beliefs on menstruation through the centuries – it's at the front hall of our George IV Bridge building until Wednesday.
P.S. free sanitary products now available across our three sites. Help yourself to what you need. #TalkPeriods pic.twitter.com/rnxp1PpZ61
— National Library of Scotland (@natlibscot) March 2, 2020
ขณะที่ผลสำรวจ KidsCan จากประเทศนิวซีแลนด์ในประเด็นเรื่อง Period Proverty นี้ ก็มีการเก็บข้อมูลจากผู้หญิงจำนวน 5,000 ราย พบว่ามีผู้หญิงจำนวน 1 ใน 4 รายที่ต้องแบกรับต้นทุนจากการซื้อผ้าอนามัย กว่าครึ่งหนึ่งระบุว่าประเด็นที่ต้องซื้อผ้าอนามัยนี้สร้างปัญหาให้ชีวิตพอสมควร พวกเธอต้องขาดเรียน หรือไม่ก็ต้องลางาน เพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย มีจำนวน 1 ใน 3 รายระบุว่า ผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าชิ้นหลักๆ ที่สำคัญและจำเป็นกับชีวิต
ที่มา – Reuters (1), (2), Obstetrics & Gynecology, Newshub
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา