ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินประเมินผลกระทบที่มีต่อภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของไทย โดยใช้ข้อมูลสถิติรายได้ ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย จากฐานข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการออมสิน เผย มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่จีนทำ ทั้งการปิดเมืองอู่ฮั่นและอีกหลายเมืองเพื่อป้องกันความเสี่ยงและระงับทัวร์จีนในต่างประเทศ ส่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ทั้งธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก ที่พักแรม ร้านอาหาร บริการขนส่ง ตลอดจนธุรกิจต้นน้ำ เช่น ธุรกิจเกษตร ปศุสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าให้ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรม ที่พักต่างๆ
ผลกระทบที่จะมีต่อ GDP ของประเทศด้านการผลิตหากรายได้จากการท่องเที่ยวมีการปรับตัวลดลง แบ่งเป็น 2 กรณี
หนึ่ง หากจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ภายใน 3 เดือน นักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมาไทยจะหายไปประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลงกว่า 8 หมื่นล้านบาท และฉุดให้ GDP ไทยในปี 2563 ลดลง -0.4%
สอง หากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยาวนานต่อเนื่องไปถึง 6 เดือน คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวไทยลดลงกว่า 1.7 แสนล้านบาท และฉุดให้ GDP ไทยในปี 63 ลดลง -1.0%
ส่วนผลกระทบที่มีต่อธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ข้อมูลสถิติการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนจากฐานข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมใช้จ่าย 5 อันดับแรก คือ ชอปปิง (ค้าปลีก) ที่พักแรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม การเดินทาง และการบันเทิง สันทนาการต่างๆ
ดังนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวจีนลดลงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่คนจีนชอบไปใช้จ่ายโดยเฉพะาในจังหวัดที่คนจีนนิยมท่องเที่ยว อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ สุราษฏร์ธานี และเชียงราย
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากรายได้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลงมากที่สุด 4 อันดับแรกคือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจขนส่ง
ธุรกิจค้าปลีกที่คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ถึง 5.4 หมื่นล้านบาท จากการจับจ่ายซื้อสสินค้าของนักท่องเที่ยวจะมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลักคือ กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น มินิมาร์ท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต ธุรกิจขายเครื่องสำอางค์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กลุ่มร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อในท้องถิ่น ของที่ระลึก ซึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนมีผู้ประกอบการราว 7,538 ราย จังหวัดที่กระทบมากคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต
ขณะที่ธุรกิจที่พักแรม/ โรงแรม คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 21,000 – 45,000 ล้านบาท โดยเฉพาะที่พักแรมระดับราคาไม่สูงมากจนถึงระดับปานกลาง มีตลาดหลักเป็นลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีผู้ประกอบการราว 5,622 ราย มีจังหวัดที่มีผู้ประกอบการกลุ่มนี้ เช่น กรุงเทพฯ สุราษฏร์ธานี และภูเก็ต
ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะสูญเสียรายได้ราว 16,000 – 34,000 ล้านบาท โดยเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัด มีผู้ประกอบการอยู่ในกลุ่มนี้ประมาณ 7,708 ราย จังหวัดที่มีผู้ประกอบการกลุ่มนี้จำนวนมากคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และสุราษฏร์ธานี ซึ่งรวมถึง Street food กว่า 105,000 ราย ส่วนใหญ่ไม่เป็นนิติบุคคล กระจายตามจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ
ธุรกิจขนส่ง คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 7,500-16,000 ล้านบาท โดยเฉพาะบริการรถหรือเรือนำเที่ยว ผู้ประกอบการอยู่ในกลุ่มนี้ประมาณ 6,742 ราย จังหวัดที่มีผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่จำนวนมาก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเชื่อมโยงธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจต้นน้ำ อย่าง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ข้าว รวมถึงธุรกิจปศุสัตว์ทั้งโค สุกร และสัตว์ปีก และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจเชื้อเพลิง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เป็นต้น อาจส่งผลกระทบต่อ GDP ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์
ทั้งนี้ ภาครัฐก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเป็นมติ ครม. ตั้งแต่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อาทิ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษี การลดค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงท่าอากาศยาน การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน เป็นต้น
ที่มา – ทำเนียบรัฐบาล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา