รู้จัก Karex ผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ที่สุดในโลก กับการส่งแบรนด์ myONE ชิงแชร์ตลาดไทย

ตลาดถุงยางอนามัยในประเทศไทยนั้นแข่งขันกันสูง สังเกตจากตัวเลือกในร้านสะดวกซื้อที่มีหลายแบรนด์ และแต่ละรายก็จำหน่ายสินค้าหลายตัว แล้วทำไม myONE แบรนด์ถุงยางจากสหรัฐอเมริกาถึงเลือกเข้ามาทำตลาดที่นี่

myone
myone

ความพร้อมของตลาดที่มีมากขึ้น

ก่อนหน้านี้การเติบโตของตลาดถุงยางอนามัยนั้นถูกขับเคลื่อนโดยหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อต่างๆ ที่ซื้อถุงยางอนามัยไปแจก และสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค แต่ปัจจุบันมันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว เพราะตลาดนี้เริ่มถูกขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เริ่มเป็นแบบนี้

เอ็มเค โกห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Karex ผู้ผลิตถุงยางอนามัยรายใหญ่ที่สุดในโลก เล่าให้ฟังว่า ตลาดถุงยางอนามัยในไทยเติบโตราว 8-9% ใกล้เคียงกับภาพรวมของตลาดโลก แต่ด้วยตลาดถุงยางอนามัยที่ไทยยังมีช่องว่างอยู่มาก ประกอบกับความพร้อมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อ ก็ทำให้เป็นโอกาสที่ดีในการทำธุรกิจที่นี่

myone
เอ็มเค โกห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Karex

“Karex มีโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2549 เพื่อผลิตถุงยางอนามัยส่งออกไปทั่วโลก ด้วยกำลังผลิตมากที่สุดถึง 2,700 ล้านชิ้น/ปี เรียกว่าใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้ค่อนข้างรู้ภาพรวมตลาดที่นี่ และเห็นว่าที่ไทยยังเน้นทำตลาดผ่านบรรจุภัณฑ์เดิมๆ ดังนั้นการสร้างบรรจุภัณฑ์แบบใหม่มันน่าจะสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้ซื้อได้”

myONE ที่จูงใจด้วยผลงานศิลปะ

ทั้งนี้ Karex จะเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างเป็นทางการด้วยแบรนด์ myONE ที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา โดย Karex ได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2557 พร้อมนำจุดเด่นด้านบรรจุภัณฑ์แบบทรงกลมที่ไม่เคยมีในไทย และแสดงรูปภาพศิลปะแนวใหม่เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่นี่

myone
ลวดลายต่างๆ บนถุงยางอนามัย myONE

“ด้วย Karex เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านถุงยางอนามัย และอยู่ในไทยมานาน ทำให้ตลาดไทยค่อนข้างสำคัญสำหรับเรา และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราก็ส่ง myONE เข้ามาทำตลาด เน้นที่รุ่นบางพิเศษ เพราะมีอัตราการเติบโตในไทยค่อนข้างสูง ส่วนรุ่นที่มีสารหล่อลื่น และรสชาติก็ยังเน้นทำตลาดเช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ตาม myONE ยังเน้นจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ก่อน เนื่องจากความนิยมในการซื้อถุงยางอนามัยของคนไทยเริ่มไปที่ออนไลน์มากขึ้น แต่ก็มีแผนเข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายยา และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในไทยเช่นกัน ส่วนกลุ่มเป้าหมายจะเน้นที่กลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก เพราะค่อนข้างเปิดใจกับสินค้าใหม่ๆ

myone
บรรจุภัณฑ์ของ myONE

Karex กับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่

“เรามองว่าเรื่องรสชาติเป็นอีกปัจจัยในการเลือกซื้อ ดังนั้นการเปิดตัวถุงยางอนามัยรสชาติใหม่ๆ จะได้เห็นกันมากขึ้นหลังจากนี้ เช่นรสชาติทุเรียน หรือรสชาติอื่นๆ ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทย โดยราคาที่เราจำหน่ายนั้นเริ่มต้น 49-79 บาทในแบบแพ็ค 3 ชิ้น และ 159-269 บาทในแบบกระปุก 12 ชิ้น”

สำหรับ Karex นั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย และปีปฏิทิน 2562 (สิ้นสุดในเดือนมิ.ย. 2562) บริษัททำรายได้ 378 ล้านริงกิต (ราว 2,800 ล้านบาท) ลดลงจากปีปฏิทินก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เนื่องจากการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการยื่นเสนอราคาเพื่อเข้าโครงการผลิตของหน่วยงานต่างๆ ผ่านปัจจัยเรื่องสงครามการค้า และอื่นๆ

myone
รายได้ของ Karex

ในทางกลับกันรายได้ของ Karex ยังมาจากธุรกิจรับผลิตถุงยางอนามัยผ่านโรงงานที่มีอยู่ทั่วโลก โดยคิดเป็นสัดส่วน 49%, รองลงมาเป็นธุรกิจเข้าโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานอนามัยต่างๆ 34% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ตัวเอง เช่น myONE คิดเป็นสัดส่วน 17%

สรุป

ส่วนตัวเชื่อว่าตลาดถุงยางอนามัยไม่ใช่ง่ายๆ ถึงผู้บริโภคในประเทศไทยเริ่มเปิดใจกับสินค้านี้มากขึ้น แต่ด้วยการเปิดใจนี้เองก็ทำให้แบรนด์ดั้งเดิมที่อยู่ในตลาดนี้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก และจากจุดนี้เอง myONE ของ Karex จึงค่อนข้างเหนื่อย ดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่า myONE จะยืนหยัดในตลาดนี้ได้หรือไม่

อ้างอิง // ภาพจาก Facebook ของ myONE

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา