บทความโดย โมโตกิ ลักษมีวัฒนา (Motoki Luxmiwattana)
ผ่านไปแล้วกับการเลือกตั้งตัวแทนพรรคเดโมแครตในสองมลรัฐแรกคือ Iowa และ New Hampshire ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวคาดการณ์ “ว่าที่ประธานาธิบดี” ได้ดีที่สุด (ในอดีต แคนดิเดตที่ได้ชัยชนะในสองมลรัฐนี้ทุกคนได้เป็นตัวแทนพรรค) ผลปรากฎว่าในมลรัฐ Iowa วุฒิสมาชิก Bernie Sanders และนาย Pete Buttigieg (พีท บุตติจีช) “เสมอ” กัน ส่วนใน New Hampshire Sanders ขึ้นนำเป็นอันดับ 1 โดยมี Buttigieg ตามติดเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 เป็นวุฒิสมาชิก Amy Klobuchar (เอมี่ โคลบูชาร์)
ผลการเลือกตั้งที่ New Hampshire ถือว่าพลิกโผ เพราะตัวเต็ง (front-runner) อย่างวุฒิสมาชิก Elizabeth Warren และอดีตรองประธานาธิบดี Joe Biden ได้เพียงอันดับ 4 และ 5 โดยได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งของ Klobuchar ด้วยซ้ำ
เราอาจคุ้นเคยชื่อของ Bernie Sanders ตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 แต่ที่น่าสนใจคือ “ม้ามืด” ในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่าง Buttigieg และ Klobuchar ที่ได้คะแนนแซงหน้าตัวเต็งรุ่นเก๋าและยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก
บทความนี้จะพาไปรู้จักภูมิหลังของม้ามืดทั้งสองคน วิเคราะห์ประเด็นที่ทำให้ทั้ง 2 คนสามารถขึ้นมามีคะแนนในกลุ่มผู้นำ และสิ่งที่ควรคำนึงถึง เมื่อเราจะมองทิศทางการเลือกตั้งตัวแทนพรรคเดโมแครตต่อจากนี้
Sanders, Buttigieg และ Klobuchar: จุดยืนและการวางตำแหน่งในการเลือกตั้ง 2020
หากท่านได้ติดตามการเลือกตั้งตัวแทนพรรคเดโมแครตในปี 2016 อาจคุ้นเคยกับชื่อ Bernie Sanders มาแล้ว เขาเป็นวุฒิสมาชิกไม่สังกัดพรรคใด (Independent) จากมลรัฐ Vermont ปัจจุบันอายุ 78 ปี เคยลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต แต่แพ้ Hillary Clinton (ซึ่งมาแพ้ประธานาธิบดี Donald Trump คนปัจจุบัน)
Bernie ขึ้นชื่อเรื่องนโยบายเชิงรัฐสวัสดิการ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิแรงงาน เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การยกเลิกหนี้นักศีกษา นโยบาย Green New Deal (การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสิ่งแวดล้อม) ทำให้เขาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “หัวก้าวหน้า (progressive lane)” ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ส่วน Buttigieg และ Klobuchar อยู่ในกลุ่ม “ไม่สุดโต่ง (moderate lane)” ที่มักวางตัวว่าเห็นด้วยกับจุดยืนของฝ่ายหัวก้าวหน้า แต่ให้ความสำคัญกับการประนีประนอม และนำเสนอนโยบายที่พวกเขารู้สึกว่า “สามารถทำได้จริง ๆ” (รายละเอียดแตกต่างกันออกไปว่าแต่ละแคนดิเดตมองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ “ทำได้จริง”)
Buttigieg อายุ 38 ปี เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมือง South Bend ในมลรัฐ Indiana เคยเปิดเผยรสนิยมทางเพศว่าเป็นเกย์ ทำแบรนด์ตัวเองว่าเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ อายุน้อย และมีภูมิหลังที่ไม่ใช่ “การเมืองแบบวอชิงตันดีซี” ซึ่งหมายถึงว่าเป็น “คนนอกระบบ” ที่ไม่ได้ติดพันกับการเมืองของเมืองหลวงแบบดั้งเดิม แต่มีประสบการณ์จริงจากมุมมองใหม่ ๆ ที่ได้มาจากส่วนอื่นของประเทศ
ในขณะที่ Klobuchar ไม่ได้ขายความเป็น “คนนอกระบบ” แบบ Buttigieg แต่เน้นสถานภาพของตัวเองที่เป็นวุฒิสมาชิกจากมลรัฐ Minnesota ซึ่งเป็น “มลรัฐสีม่วง” (มีฐานเสียงที่สนับสนุนทั้งสองพรรคพอกัน) เพื่อเน้นยำว่าตนเองสามารถแย่งชิงคะแนนเสียงจากอีกฝ่าย ให้เอาชนะประธานาธิบดี Trump ได้
การขึ้นนำและกลยุทธ์ของ Bernie Sanders
แต่คนที่ได้คะแนนนำในทั้งสองรัฐก็ยังเป็น Bernie Sanders
ตามทฤษฏีแล้ว ยุทธศาสตร์ไม่สุดโต่งของ Buttigieg และ Klobuchar อาจสามารถ “ดูด” คะแนนเสียงจากคนที่เคยเลือก Trump ได้ เพราะเหตุใด Sanders จึงขึ้นนำได้ในมลรัฐทั้งสองนี้?
ปัจจัยแรกคือนโยบายหลักประกันสุขภาพแบบกองทุนเดียว (single payer) ที่รู้จักกันในนาม “Medicare for All (M4A)” กลายเป็นแบรนด์ของ Sanders ไปแล้ว
นโยบายกองทุนเดียวเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนสหรัฐฯที่ให้ความสำคัญกับปัญหานโยบายสุขภาพสูงที่สุด เพราะภายใต้ระบบผสมแบบที่ใช้ปัจจุบัน เน้นให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนมีบทบาทสำคัญ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (healthcare expenditure) ต่อหัวของคนอเมริกันพุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 ในโลก ในแต่ละปีมีประชาชนกว่า 5 แสนคนล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ มีการวิจัยพบว่าค่าใช้จ่ายที่สูงมาจากต้นทุนด้านการจัดการ (administrative cost) ทั้งของรัฐบาลและบริษัทประกันเอกชน ไม่ได้มาจากการรักษาพยาบาลโดยตรง
หนึ่งในจุดขายของ M4A ของ Sanders คือการลดต้นทุนด้านนี้ลง ขจัดค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคต้องแบกรับในประกันสุขภาพเอกชนรูปแบบต่าง ๆ
เมื่อนโยบายที่ชัดเจน ผนวกกับภาพลักษณ์ของ Sanders ด้านความซื่อสัตย์และจริงใจ ดังที่เห็นได้จากที่เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่านโยบาย M4A จะเพิ่มภาษี แต่จะลดค่าใช้จ่ายโดยรวม หรือการที่เขามีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่ไขว้เขวไปกับกาลเวลาหรือความนิยมในแต่ละสมัย เช่นในประเด็นนโยบายสุขภาพ สิทธิทางการเมืองของผู้หญิง สิทธิของทหารผู้รักร่วมเพศ และการต่อต้านสงครามอิรักตั้งแต่ต้น ทำให้ “ความนิยม (favorability)” ของเขาสูงที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้
อีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็น คือยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่เน้นการเพิ่มจำนวนคนที่ออกมาใช้สิทธิ (turnout) ในกลุ่มที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับสังคมมากนัก เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มประชากรผิวสี (Latino) และแรงงานต่างด้าว ที่ Sanders ได้คะแนนสนับสนุนอย่างท่วมท้น
ยุทธศาสตร์นี้ทำได้เพราะทีมหาเสียงของ Sanders เป็นองค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่จัดตั้งมาเป็นเวลา 4 ปีตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งก่อน มีความพร้อมออกไปพูดคุยสนทนากับกลุ่มสังคมต่าง ๆ เพื่อหาเสียง แม้ว่าตัว Sanders จะติดพันภารกิจอื่น (เช่น ต้องไปลงมติถอดถอน Trump ในเดือนมกราคม) ทำให้เขามี “โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)” ด้านการหาเสียงที่เข้มแข็ง ทั้งในแง่ “กำลังทุน” จากการบริจาคโดยประชาชน และ “กำลังคน” ที่สามารถลงพื้นที่หาเสียง โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับการชิงพื้นที่สื่อจนเกินไป
Buttigieg เสมอใน Iowa และ Klobuchar ไต่ขึ้นอันดับ 3 ใน New Hampshire
ดังที่กล่าวไปแล้ว ทั้ง Buttigieg และ Klobuchar วางตำแหน่งตนเองเป็นแคนดิเดตที่ “ไม่สุดโต่ง” ทำให้ทั้งสองต้องมาชิงฐานเสียงเดียวกัน ทั้งในแง่อุดมการณ์ ภูมิหลังทางสังคม เศรษฐกิจ สีผิว รายได้ และช่วงอายุ
สาเหตุที่ Buttigieg สามารถขึ้นนำแคนดิเดตในกลุ่ม “ไม่สุดโต่ง” คนอื่นได้ (Biden ได้ที่ 4 Klobuchar ได้ที่ 5) ผู้เขียนมองว่าปัจจัยแรกคือ “ภาพลักษณ์เด็กเก่ง” ของ Buttigieg ที่มีโปรไฟล์ดี ทั้งในแง่การศึกษาและการงาน เช่น เคยเป็น Rhodes Scholar (ซึ่งถูกมองว่าเป็นทุนการศึกษาที่ยากที่สุดทุนหนึ่ง มีผู้ได้รับทุนจากทั่วสหรัฐฯเพียง 32 คนต่อปี โดยเกรดเฉลี่ยของผู้ได้รับทุนอยู่ที่ 3.9) เคยทำงานในบริษัทคอนซัลท์ใหญ่อย่าง McKinsey เมื่อผนวกกับจุดยืนไม่สุดโต่ง เน้นการปรองดองในพรรค อาจทำให้กลุ่มคนผิวขาวรายได้สูง มองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาอยากสนับสนุนก็เป็นได้
ในแง่ของยุทธศาสตร์ Buttigieg ทุ่มโฆษณาในมลรัฐ Iowa ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเป็นเงินหลายล้านเหรียญ และเมื่อ Klobuchar ไม่สามารถลงพื้นที่หาเสียงได้ด้วยตนเอง เพราะติดพันภารกิจการถอดถอน Trump ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (เช่นเดียวกันกับ Bernie และ Warren) บวกกับปัจจัยหนุนว่าการหาเสียงของ Biden ไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าใดนัก จึงทำให้ Buttigieg ได้เปรียบและได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมากก็เป็นได้ แถมระบบ Caucus ของมลรัฐ Iowa (คล้ายกับการประชุม มากกว่าการเลือกตั้งโดยตรง) น่าจะมีส่วนให้ผู้ที่เคยสนับสนุน Klobuchar หรือ Biden ในช่วงแรก “ย้ายค่าย” มาสนับสนุน Buttigieg อีกด้วย
ในบริบทที่ Sanders มีรากฐานที่มั่นคง และ Buttigieg สร้างโมเมนตัมจาก Iowa ได้สำเร็จ การไต่อันดับขึ้นมาของ Klobuchar มีความน่าสนใจมาก เพราะว่าฐานเสียงของเธอคล้ายกับ Buttigieg, Biden และ Warren อย่างมาก กล่าวคือ Klobuchar ใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียว แย่งชิงเสียงสนับสนุนจากแคนดิเดต “ไม่สุดโต่ง” คนอื่น และอาจมีส่วนที่ให้ Buttigieg พลาดอันดับ 1 ใน New Hampshire อีกด้วย
ผู้เขียนมองว่าความนิยมในตัว Klobuchar ใน New Hampshire มาจากการโต้วาทีได้อย่างแข็งขันในการดีเบตคืนวันศุกร์ก่อนการเลือกตั้ง นอกจากที่ Klobuchar สามารถโจมตี Buttigieg ได้อย่างดีแล้ว ตัว Buttigieg เองยังพลาดพลั้งในการตอบคำถาม เมื่อผู้ดำเนินรายการถามประเด็นปัญหาการจับกุมประชาชนคนดำในเมือง South Bend ที่สูงกว่าปกติในช่วงที่เขาเป็นนายกเทศมนตรี เขาพยายามอ้างว่าอัตราการจับกุมมิได้สูง และยังเชื่อมโยงคนดำกับความรุนแรงทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น (มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคำตอบที่มีนัยยะเหยียดผิวในระดับหนึ่งอีกด้วย)
ความผิดพลาดของ Buttigieg ทำให้ภาพแคนดิเดตดาวรุ่งในกลุ่มไม่สุดโต่งสั่นคลอน ส่งผลให้กลุ่มสังคมคนผิวขาวรายได้สูง ที่มักติดตามข่าวสารการเลือกตั้งผ่านโทรทัศน์ และมีแนวโน้มเปลี่ยนจุดยืนบ่อย (fickle) ตามข่าวสารที่ได้รับ ย้ายไปสนับสนุน Klobuchar ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
วิเคราะห์ทิศทางการเลือกตั้งต่อจากนี้
แม้ Buttigieg และ Klobuchar ประสบความสำเร็จในสองมลรัฐนี้ในระดับหนึ่ง ผู้เขียนมองว่าแคนดิเดตสองคนนี้ไม่น่าจะ “ไปรอด” ในมลรัฐต่อจากนี้ไป ด้วยเหตุผล 2 ประการใหญ่ ๆ
ประการแรก ทั้งสองแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาชนผิวสีและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญสำหรับพรรคเดโมแครต (Quinnipiac Poll ล่าสุดจากเผยว่าเมื่อดูในระดับประเทศแล้ว Buttigieg และ Klobuchar ได้รับการสนับสนุนจากคนผิวสีเพียง 4% และ 0% ตามลำดับ)
การเลือกตัวแทนในมลรัฐ Nevada (22 ก.พ.) และ South Carolina (29 ก.พ.) มีกลุ่มคนผิวสีจำนวนมาก (ทั้งละตินและคนดำ) อาจทำให้กระแสของทั้งสองหายไป ส่วนวัน Super Tuesday 3 มี.ค. ก็มีหลายมลรัฐที่มีประชากรผิวสีจำนวนมากเช่นกัน
แคนดิเดตสายไม่สุดโต่งคนอื่นเช่น Biden อาจมีโอกาสในรัฐเหล่านี้สูงกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเสียงสนับสนุนจากคนดำ (โดนเฉพาะกลุ่มสูงวัย) เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 27% นำผู้สมัครทุกคน
ประการที่สอง แคนดิเดตทั้งสองคนนี้ไม่ได้มีทีมงานหาเสียงเตรียมการอยู่ในมลรัฐต่อจากนี้เท่าใดนัก โดยเฉพาะ Klobuchar ที่เผลอ ๆ แล้วต้องจ้างทีมงานใหม่หลายร้อยคนในเวลาไม่กี่วัน เพื่อเริ่มหาเสียงในมลรัฐ Nevada ก่อนที่ Caucus จะเริ่มขึ้น
กระแสที่แคนดิเดตได้จากผลการเลือกตั้งใน Iowa หรือ New Hampshire อาจมีประโยชน์ต่อการโน้มน้าวผู้ลงคะแนนเสียง และเป็นตัวช่วยดึงดูดเงินบริจาค (ทั้งจากประชาชนและเศรษฐี) สำหรับแคนดิเดตที่ร้อนเงิน ปัญหาคือทั้ง Buttigieg และ Klobuchar อาจมีเงิน แต่ขาดคนและทีมงาน จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเงินเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเทียบกันแล้วทีมหาเสียง Sanders ที่ได้วางเกมยาว เปิดศูนย์หาเสียงตามมลรัฐหลัง South Carolina แล้ว จึงมีโอกาสรักษากระแสและเสียงสนับสนุนได้อย่างมั่นคงกว่า “ม้ามืด” อีกสองคนมาก
นอกจากนั้น Iowa และ New Hampshire เป็นกลุ่มมลรัฐที่ “ขาวที่สุด” มีอายุเฉลี่ยสูง และมีฐานะค่อนข้างดีล้วนเป็นปัจจัย Sanders ที่เสียเปรียบด้วยซ้ำ เมื่อเราทำความเข้าใจยุทธศาสตร์และเสียงสนับสนุนที่เขาได้จากกลุ่มสังคมผิวสีดังที่กล่าวไปแล้ว ในมลรัฐ Nevada ที่มีสัดส่วนประชาชนเชื้อสายละตินจำนวนมาก ก็คาดการณ์ได้ว่าคะแนนเสียงของ Sanders มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากในมลรัฐต่อจากนี้
จับตา Michael Bloomberg กับเงินมหาศาล
ตัวเลือกไม่สุดโต่งอีกคนหนึ่งที่ยังเข้มแข็งในโพลล์ และมีนักข่าวบางคนได้ข่าวลือว่าสมาชิกระดับสูงพรรคเดโมแครตบางส่วนกำลังเอนเอียงไปหาคือ Michael Bloomberg เจ้าของธุรกิจสื่อ Bloomberg
ด้วยทรัพย์สินมหาศาลกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เขาทุ่มเงินไปเกือบ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯในการซื้อโฆษณา โดยวางเป้าหมายอยู่ที่มลรัฐช่วง Super Tuesday เป็นต้นไป แถมยังมีการรายงานว่าเขากำลัง “ดูด” ทีมงานหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่เหล่านี้ด้วย
ตอนนี้ยังคงบอกได้ยากว่ายุทธศาสตร์ของ Bloomberg ที่เลี่ยงการแข่งขันกับตัวแทนคนอื่นในมลรัฐแรก ๆ รวมถึงการเลี่ยงขึ้นเวทีดีเบต ที่อาจทำให้เสียเปรียบในภาพลักษณ์ จะประสบความสำเร็จแค่ไหน (เพราะแทบจะไม่มีแคนดิเดตในช่วง 20 ปีมานี้ ที่ใช้แผนการเช่นนี้ ด้วยกำลังทรัพย์ขนาดนี้)
แต่การที่ Bloomberg สามารถยกอันดับตนเองขึ้นมาอยู่ที่ 3 ในโพลล์เฉลี่ยระดับประเทศของ Morning Consult และยังสามารถรับการสนับสนุนพอสมควรจากกลุ่มสังคมผิวสี ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองมีประวัติเหยียดผิวอย่างร้ายแรงทั้งในแง่พฤติกรรมและนโยบายสมัยเป็นนายกเทศมนตรีนคร New York แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์นี้มิได้เปล่าประโยชน์ไปเสียทีเดียว
สิ่งที่ผู้เขียนอยากทิ้งท้ายสักเล็กน้อย เป็นเหมือนเกร็ดในการติดตามการเลือกตั้ง คือ อยากแนะนำท่านผู้อ่านพยายามมองการเคลื่อนไหวในการหาเสียงอย่างน้อยใน 2 ระดับ คือในระดับของ “ประเด็น” (นโยบาย อุดมการณ์ โปรไฟล์ของตัวแคนดิเดต ฯลฯ) และในระดับของ “โครงสร้างเชิงกายภาพ” (การได้พื้นที่สื่อ ทีมงานหาเสียง องค์กร เครือข่าย และกลุ่มสังคมที่สนับสนุน ฯลฯ) เพราะบ่อยครั้งเราอาจด่วนสรุปว่าการเลือกตั้งคือ “การประชันกันของแนวคิด (the battle of ideas)” โดยมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ ในการโน้มน้าวจิตใจ ที่อาจฟังดูน่าเบื่อ เช่นการส่งข้อความ การโทรศัพท์ การเคาะประตูสนทนา
เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่ดูน่าเบื่อ (mundane) เหล่านี้แหละครับ ที่บ่อยครั้งแล้วมักเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด ในการเชื่อมต่อประเด็นให้เข้ากับผู้ใช้สิทธิ์ ซึ่งจะชี้ชะตาการเลือกตั้งในสังคมประชาธิปไตย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา