กสทช. เสนอ 2 แนวทางเยียวยาผู้บริโภค “ไม่พอใจยกเลิกได้-อยากอยู่ต่อขอราคาเป็นธรรม”

ดูเหมือนเรื่อง TrueVisions ยกเลิก 6 ช่องรายการ HBO จะยังไม่จบง่ายๆ หลังจากผ่านเข้าปีใหม่มาได้หลายวัน ลูกค้าสมาชิก TrueVisions ทดลองดูช่องรายการใหม่ทั้ง 7 แล้ว มีเสียงบ่นออกมาว่า นอกจากไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ แล้ว ช่องรายการใหม่หนังไม่ดีเหมือน HBO ไม่คุ้มค่ากับค่าบริการ

อีกหนึ่งเรื่องร้องเรียนคือ คืนวันที่ 31 ธ.ค. 59 TrueVisions ได้ยกเลิกการออกอากาศก่อนเวลาเที่ยงคืนประมาณ 1 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่า มีเหตุขัดข้องทางเทคนิค

ดังนั้นทาง กสทช. เลยรวบรวมเรื่องทั้งหมดและจัดรับฟังความคิดเห็นกลุ่ม 3 ฝ่าย คือ กสทช. ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิก และผู้บริหาร TrueVisions เพื่อหาทางออกร่วมกันในวันที่ 10 ม.ค. นี้

สุภิญญา เสนอ 2 แนวทางเยียวยาผู้บริโภค

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. บอกว่า วันที่ 10 ม.ค. นี้จะมีการรับฟังความคิดเห็น แต่ กสทช. ได้เสนอ 2 แนวทางเยียวยาผู้บริโภค โดยขั้นต้น TrueVisions ไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าสมาชิกทราบล่วงหน้า ดังนั้นตั้งแต่ 29 ธ.ค. 59 – 29 ม.ค. 60 ไม่ควรคิดค่าบริการกับลูกค้า เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาของการตัดสินใจว่าจะรับบริการต่อไปหรือไม่

สำหรับแนวทางเยียวยาแรก ลูกค้าที่ไม่พอใจและต้องการยกเลิกบริการ ต้องสามารถทำได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และต้องได้รับเงินค่าติดตั้งจาก TrueVision คืนด้วย เนื่องจากไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

แนวทางที่ 2 คือ ลูกค้าที่อยากเป็นสมาชิกต่อแต่รู้สึกว่าราคาไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีการยกเลิกช่องรายการไป ทาง กสทช. จะพิจารณาว่าเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา TrueVisions มีการยกเลิกช่องรายการเป็นระยะ

“เรื่องนี้อาจดูเป็นความผิดเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าผิดกฎระเบียบ ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. อยากให้ TrueVisions เสนอเข้ามาเองว่าจะสามารถลดราคาค่าบริการได้หรือไม่ ขณะเดียวกันได้ทำการศึกษาด้วยว่า การยกเลิกช่องรายการ HBO ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์รายการ จะเป็นมูลค่าที่สามารถลดค่าบริการได้เท่าไร”

เตรียมหามาตรการป้องกันผูกขาด

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา มองว่า TrueVisions มีลักษณะกึ่งผูกขาดบริการอยู่ เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการทีวีบอกรับสมาชิกรายใหญ่เพียงรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้บริการรายอื่นๆ พยายามขึ้นมาแข่งขัน เช่น CTH และ GMMZ แต่สุดท้ายการทุ่มเงินทำตลาด แต่มีสมาชิกน้อยราย ก็ไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว

ดังนั้นแนวทางของ กสทช. ในอนาคตคือ การลดการผูกขาดโดยรายใหญ่ เช่น มาตรการ Non-Exclusive Content หรือ Must Offer ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้กันอยู่ โดยกำหนดว่าหากมีการซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศเข้ามาให้บริการ ต้องการันตีจำนวนผู้ชม 60-80% (ตัวเลขสมมติ) หากจำนวนสมาชิกไม่ถึงต้องขายต่อบริการให้รายอื่นๆ ในราคาที่เป็นธรรม เรื่องนี้จะลด exclusive content และประกันการเข้าถึงขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน

อีกแนวทางหนึ่งคือ การสนับสนุน digital platform อื่นๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้มากขึ้น เช่น IPTV, ดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต หรือการสตรีมมิ่ง แต่ต้องระวังข้อเสียเรื่องเม็ดเงินจะไหลออกต่างประเทศโดยตรง

สุภิญญา บอกว่า อยากให้ลูกค้าสมาชิกที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนเข้ามาที่ กสทช. 1200 ให้มากๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อและจำนวน สร้างน้ำหนักให้กับฐานเสียงสะท้อนให้ กสทช. เห็นว่ามีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน สุดท้ายหากเรื่องไปถึงศาล ก็จะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น

สรุป

เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะคือการสร้างบรรทัดฐานการให้บริการ เพราะเมื่อผู้บริโภคผิดนัดชำระค่าบริการ ผู้ให้บริการสามารถระงับบริการได้ แต่เมื่อผู้ให้บริการจะยกเลิกบริการ (ช่องรายการ) ก็ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หรือหากไม่ปฏิบัติก็ควรมีการเยียวยาผู้บริโภคที่เหมาะสม เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องถึงการใช้อำนาจของ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลในกิจการที่มีลักษณะกึ่งผูกขาดโดยผู้ให้บริการรายใหญ่ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา