จุดจบงานในฝัน! ผลสำรวจชี้ เงินเดือนเยอะไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ งานให้ใจน่าดึงดูดมากกว่า

ผลสำรวจจาก Deloitte ในปี 2019 หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีชื่อดังของโลกพบว่า นักศึกษาจบใหม่กว่า 2 ใน 3 เลือกเรียนในสิ่งที่จะได้เงินเดือนดีในอนาคต กลุ่มคนรุ่นใหม่ และคน Gen Z มีความต้องการที่จะมีเงินเดือนสูง และแสวงหาความมั่นคงมากที่สุดเป็นอันดับแรกๆ ของความต้องการในชีวิต ขณะที่ 1 ใน 3 กลับไม่เลือกเช่นนั้น ทั้งที่เมื่อก่อนงานรายได้ดี คนรุ่นไหน ไม่ว่าใครก็มักเลือกทำ

ปัจจุบัน งานที่ได้เงินเดือนดี อาจไม่ใช่งานในฝันที่ชีวิตของคุณต้องการเสมอไป เพราะการทำงานที่ไม่ชอบ ไม่สนุกกับการทำงาน หรือไม่ได้สนใจงานนั้นจริงๆ ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข แม้ว่างานนั้นจะให้เงินเดือนที่สูงมากก็ตาม

งานที่ได้เงินมากอาจไม่ใช่งานในฝัน?

Spencer Smith เป็นคนหนึ่งที่เคยคิดว่าการได้ทำงานที่ได้เงินเดือนสูง คืองานในฝัน เขาเคยทำงานเป็นผู้แทนนำเข้าสินค้า และได้เงินเดือนมากกว่า 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.2 ล้านบาทต่อปี ในช่วงที่เขาอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น เขาทำงานอย่างหนักตั้งแต่ 6 โมงเช้า โดยไม่ได้พักทานข้าวกลางวัน งานส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหางานของพนักงานคนอื่น มันทำให้เขาไม่มีความสุขในการทำงาน ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจย้ายไปทำงานในบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าและผลตอบแทนน้อยกว่า 

ขณะที่ Tabitha Blagdon เคยเป็นหนึ่งในผู้จัดการที่มีอายุน้อยที่สุดของบริษัท แต่งานที่ทำไม่ได้สร้างความสุขให้ตัวเองและยังไม่ตอบโจทย์การทำงานที่เธอต้องการด้วย เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนงานในที่สุด ทั้ง Spencer และ Tabitha ต่างเคยคิดว่าการที่พวกเขาทำงานที่มีเงินเดือนสูงคืองานในฝัน แต่กลับค้นพบว่าไม่มีความสุขกับงาน จนเลือกเปลี่ยนไปทำงานในบริษัทเล็กๆ แต่มีความสุขกับการทำงานจริงๆ แม้จะรายได้น้อยกว่า

ชีวิตการทำงาน

สุดท้ายแล้ว การอยู่กับงานที่ไม่ได้ชอบ หรือไม่สนุกกับงาน ฝืนทำไปนานๆ จะทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้ ข้อสังเกตที่ทำให้รู้ว่าเราเริ่มหมดไฟแล้วนะ มีดังนี้

5 สัญญาณเตือนให้รู้ว่าคุณเริ่มหมดไฟในการทำงานแล้ว

  • หนึ่ง ไม่ตื่นเต้นกับงานที่ทำ เมื่อเริ่มทำงานใหม่ๆ คุณอาจรู้สึกตื่นเต้น สนุก และท้าทายกับงานที่ทำ แต่เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง คุณกลับรู้สึกว่าคุณเฉยๆกับสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ตื่นเต้นกับมันอีกแล้ว อาการแบบนี้แสดงว่าคุณเริ่มหมดไฟกับการทำงาน
  • สอง ไม่อยากทุ่มเทกับการทำงานเหมือนเดิม เริ่มกั๊กความสามารถ บางครั้งคุณมีงานที่คุณต้องรับผิดชอบกองอยู่ตรงหน้า คุณมีความรู้สึกอยากทำงานที่มีอยู่ให้จบๆ ไปโดยไม่ได้คิดว่าจะต้องลงแรงทุ่มเทกับมันให้เต็มร้อย
  • สาม ผลงานแย่ลงกว่าเดิม เมื่อคุณทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ทุ่มเทกับมันเต็มที่เหมือนเคย ทำให้ผลงานของคุณแย่ลง เช่น ทำงานไม่ทันตามกำหนด คุณภาพงานลดลงไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง
  • สี่ รู้สึกเหนื่อยกับการทำงาน ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าการตื่นนอนเพื่อลุกขึ้นมาทำงานในแต่ละวันเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ แสดงว่าสภาพการทำงานเริ่มไม่มีความสุข เป็นไปได้ว่าคุณกำลังพบกับภาวะหมดไฟในการทำงาน
  • ห้า สำรวจสัญญาณเตือนจากร่างกาย ร่างกายมักส่งสัญญาณเตือนออกมาให้คุณได้รับรู้ ได้แก่ นอนไม่หลับ เจ็บหน้าอก ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และหายใจถี่ๆ หากคุณรู้สึกว่าคุณเริ่มแสดงอาการแบบนี้ออกมา ให้เริ่มสงสัยได้เลยว่าคุณกำลังหมดไฟหรือเปล่า

ถ้าคุณเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณเตือน 1 ใน 5 สัญญาณพวกนี้ ให้สงสัยไว้ได้เลยว่าคุณกำลังเจอกับภาวะหมดไฟในการทำงาน แต่ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเสมอไป เพราะสามารถแก้ไขได้จากตัวคุณเอง

เมื่อหมดไฟในการทำงาน ทำยังไงดี?

หลายๆคนบอกว่าหากเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ให้ลองหยุดพักสัก 1 สัปดาห์ แต่ความจริงแล้ว การหยุดในระยะเวลาๆสั้นไม่ได้ช่วยอะไร เพราะคุณต้องกลับมาเจอกับสภาพการทำงานแบบเดิมๆอยู่ดี ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว

หนึ่ง เปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติในการทำงานของคุณ สิ่งแรกที่คุณควรทำคือเรียนรู้นิสัยแย่ๆ และวิธีคิดที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของคุณ เช่น จากเดิมที่คุณกดดันตัวเองว่าต้องทำงานออกมาให้ดีที่สุด ต้องไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีคำว่าธรรมดา ให้ลองลดความกดดันตัวเองลงดู ทำให้เต็มความสามารถได้เท่าไหร่เท่านั้น ไม่กดดันตัวเองมาเกินไป

สอง จัดการกับภาระงานให้เหมาะสม ภาวะการหมดไฟในการทำงานจะเกิดขึ้นได้ง่ายหากคุณมีภาระงานที่มากเกินไป ลองจัดการกับภาระงานของคุณให้เหมาะสมด้วยการแบ่งเวลาในการทำงานให้ดีขึ้น แบ่งระหว่างเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวให้ดี ไม่ให้อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป

สาม นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนหลับนอกจากจะช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานได้แล้ว การนอนหลับให้เพียงพอมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน ยังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย 

สี่ ตัดขาดจากโลกภายนอกบ้าง ในปัจจุบันคุณสามารถทำงานได้ทุกๆที่เพียงมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่ามันอาจรบกวนไม่ให้คุณได้พักกผ่อนอย่างแท้จริง ในวันหยุดลองปิดโทรศัพท์มือถือของคุณดู เพื่อไม่ให้มีอะไรมารวบกวนการพักผ่อนของคุณ 

สุดท้าย ลองทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น หันมาทำ To-do list จัดระบบการทำงานว่าคุณต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน โดยอาจเริ่มง่ายๆจากการแบ่งตารางงานเป็น 3 ช่วงของแต่ละวัน คือ ช่วงเช้า ช่วงสาย และช่วงเย็น รวมถึงทบทวนสิ่งที่ต้องทำในวันถัดๆไป เพื่อลดความกังวลว่าคุณลืมทำงานอะไรไปหรือเปล่า จะช่วยลดความเครียดจากการทำงานได้

ที่มา – Cashay, themuse, Forbes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา