ช่วงนี้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นค่อนข้างประสบปัญหา เพราะลูกค้าหาย แถมลูกจ้างไม่พอ จนเจ้าของร้านรายหนึ่งยอมปิดร้านบางเวลา แต่ก็แบรนด์ฟ้องร้องตามระเบียบ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้ธุรกิจนี้ยังเดินได้ต่อ
ร้านสะดวกซื้อที่ไม่สะดวกเจ้าของ
ก่อนหน้านี้ Brand Inside ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการถูกฟ้องร้องของเฟรนไชส์ร้าน 7-Eleven รายหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เพราะเขาดันไปปิดร้านในช่วงปีใหม่ ซึ่ง Seven-Eleven Japan เจ้าของธุรกิจ 7-Eleven ที่ญี่ปุ่นมองว่ามันผิดสัญญา และตอนนี้ก็กำลังจะเข้าสู่การตัดสินใจชั้นศาลแล้ว
จากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อมากขึ้น เนื่องจากในอดีตธุรกิจร้านสะดวกซื้อนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว และขยายสาขาไปทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรในญี่ปุ่นลดลง จนลูกค้าไม่มี และพนักงานก็ไม่เพียงพอ ซึ่งในปี 2562 ก็เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีที่จำนวนสาขาร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นลดลงด้วย
ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเวทีหารือเกี่ยวกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ นำโดยกระทรวงเศรษฐกิจ, การค้า และอุตสาหกรรม รวมถึงผู้นำในธุรกิจต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นก็ชี้ไปที่ความยากลำบากในการเปิดร้านสะดวกซื้อตลอด 24 ชม. ในตอนนี้ และน่าจะให้อิสระแก่เฟรนไชส์ในการเลือกเปิดให้บริการตามเวลาที่เหมาะสม
ช่วยค่าใช้จ่าย-ยืดหยุ่นรายละเอียดสัญญา
ขณะเดียวกันการหารือครั้งนี้ได้ชี้ว่า เจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อไม่ว่าจะเป็น 7-Eleven, Lawson, FamilyMart และอื่นๆ ควรจะช่วยเฟรนไชส์จ่ายค่าจ้างพนักงานด้วย โดยผู้เสนอเรื่องนี้ก็คือ Ministop ร้านสะดวกซื้อในเครือ Aeon ที่เตรียมช่วยเหลือค่าใช้จ่ายพนักงานแก่เฟรนไชส์ตั้งแต่ปีปฏิทินใหม่ที่จะถึงนี้ (เม.ย. 2564)
นอกจากนี้การหารือยังชี้ว่า สัญญาที่เจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อทำกับเฟรนไชส์อาจไม่เป็นธรรมนัก เพราะเป็นสัญญาระยะเวลา 10-15 ปี ทำให้เฟรนไชส์ดิ้นไปทำธุรกิจอื่นๆ ได้ลำบาก รวมถึงการแบ่งรายได้ก็ควรเปลี่ยนจากเดิมที่คำนวนจากกำไรขั้นต้นเช่นเดียวกัน
เทคโนโลยีเข้ามายกระดับได้
แม้จะมีแต่คำขอความร่วมมือ แต่การหารือครั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI หรือระบบ Automation ต่างๆ ช่วยยกระดับธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้ เช่นประหยัดค่าใช้จ่ายพนักงาน และคำนวนระยะเวลาสินค้าประเภทอาหารให้จำหน่ายออกจากเชลฟ์ให้เร็วกกว่าวันหมดอายุเพื่อไม่ให้เหลือทิ้ง
สรุป
ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นมีราว 58,000 ร้าน เรียกว่าเยอะพอสมควร ซึ่งก่อนหน้านี้มันก็คงตอบโจทย์ผู้ซื้อได้จริง แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เพราะสังคมผู้สูงอายุ คนก็ออกไปไหนมาไหนลำบาก ประกอบกับฝั่งแรงงานเองก็มีไม่พอ ทำให้เป็นงานหนักของรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ท่าไหน
อ้างอิง // Japan Today
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา