บทความโดย: ปาริชาติ โชคเกิด และธงชัย ชลศิริพงษ์
เศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องถือว่ามีการท่องเที่ยวเป็นตัวชูโรงหลัก เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พิษจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีอยู่เดิม ทรุดลงไปอีก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหวังจะพึ่งพานักท่องเที่ยวชาติอื่นช่วยไทยแทนชาติจีน ดันมาเจอรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตอกย้ำประโยคเด็ดไล่ฝรั่งกลับประเทศไปอีก
กล่าวได้ว่าการกระทำแบบนี้ กำลังตอกฝาโลงเศรษฐกิจไทยไปเลย ใช่หรือไม่?
“ไอ้พวกฝรั่งนักท่องเที่ยว อันนี้ต้องบอกไปยังสถานทูตและบอกพวกประชาชนทั่วไปด้วย ไม่ยอมใส่ แจกแล้วไม่ยอมรับ อย่างนี้ต้องไล่ออกจากประเทศไทย ไม่ใช่สนใจคนที่ภาพรวม คนที่อยู่ในประเทศไทยเอาไปให้แล้วยังปฏิเสธอยู่ ไม่มีท่าทางที่จะยี่หระต่อสถานการณ์ คนจีน เอเชียรับกันทุกคน ไอ้พวกยุโรปมันน่านัก รู้ได้ไงว่าเขาจะไม่เป็นตัวแพร่เชื้อ อาจจะไปเที่ยวเมืองอื่นมาก่อน ก่อนมาเมืองไทย เนี่ยเป็นสิ่งที่คนไทยต้องช่วยกัน ถ้าเจอคนอย่างนี้ ไล่มันออกนอกประเทศไปเลย” อนุทินกล่าว
Thai Public Health Min Anutin Charnvirakul was handing out surgical masks today for people to protect themselves against the Novel #Coronavirus. Apparently some foreign tourists didn't take them, which led to this unusual outburst by him suggesting they "should be kicked out." pic.twitter.com/UcVJtYCqeM
— Saksith Saiyasombut (@SaksithCNA) February 7, 2020
แม้สุดท้ายจะมาขอโทษผ่านสื่อที่มีอาการหลุด แต่ก็ยังยืนยันว่าไม่รู้สึกผิดที่แสดงอารมณ์เช่นนั้น เอาเข้าจริงแล้วช่วงฝุ่น PM 2.5 เงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจอ่อนแรง ท่องเที่ยวอ่อนแอก่อนที่จะมีไวรัสโคโรนาระบาด ไทยก็เพิ่งจะกวักมือเรียกให้พวกฝรั่งมังค่า พวกนักท่องเที่ยวทั้งหลายใช้ชิมช้อปใช้อินเตอร์ โบกมือเรียกให้เขาเข้ามาเที่ยวและจะจ่ายเงินให้ด้วยคูปองเงินสดอยู่แท้ๆ
แทนที่จะด่าฝรั่งและไล่กลับประเทศเพียงเพราะนักท่องเที่ยวไม่กี่คนไม่รับหน้ากากอนามัยที่ตนแจก แถมยังด่ากราดผ่านสื่อเช่นนี้ สิ่งที่ภาครัฐไทยควรทำคือ คัดกรองผู้เดินทางทั้งขาเข้าและขาออกประเทศอย่างจริงจัง เข้มงวด กักกันโรคผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนเลยดีไหม? เพราะถ้าตรวจสอบหนาแน่นคงไม่มีแท็กซี่ที่ไม่เคยเดินทางไปจีน แต่ติดเชื้อเพราะรับผู้โดยสารจีน? ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นคนจีนที่ติดเชื้อไวรัสในระยะฟักตัวมาเยือนไทยก่อนที่จะมีการปิดเมืองอู่ฮั่น
การยืนแจกหน้ากากอนามัยไม่กี่นาทีของรองนายกฯ ที่ถูกชาวต่างชาติไม่กี่คนเบือนหน้าหนี จนควบคุมอารมณ์ไม่ได้นี้ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยดีขึ้นแถมยังแย่ลงเพียงเพราะคำพูดไม่กี่คำ ทางที่ดีให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้โดยตรงหรือพนักงานต้อนรับทำหน้าที่นี้จะดีกว่า หรือไม่ก็ประกาศขอความร่วมมือให้ทุกคนป้องกันตัวเอง น่าจะเป็นวิถีทางที่ระดับผู้นำอย่างรัฐมนตรีสาธารณสุขควรจะกระทำมากกว่ามิใช่หรือ?
เพราะเราทราบกันดีว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ชาวอู่ฮั่นหรือจีนเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อทั้งโลก เพราะจีนถือเป็นห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโลก กระทบทั้งในแง่ข้อมูลข่าวสาร เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น และแม้สะเทือนถึง “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย” ที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย
ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งทศวรรษ 2010 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากภาคการส่งออก หนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือ “การท่องเที่ยว” หากคิดเป็นตัวเลข อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สามารถทำเงินให้ประเทศได้ปีละแสนล้านเหรียญ นับเป็นสัดส่วนถึง 10-12% ของ GDP ประเทศไทย
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาในประเทศไทยมักกระจุกตัวอยู่ไม่กี่จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ โดยนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทยก็คือ “นักท่องเที่ยวชาวจีน” ในแต่ละเดือนจะมีชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเกือบหลักล้านคน และมีค่าใช้จ่ายต่อคนไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนบาทต่อทริป
แน่นอนว่า เศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกสูง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองโลก ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ก่อนไวรัสจะมา เศรษฐกิจก็แย่อยู่แล้ว
นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีปัจจัยมาตั้งแต่ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นในรอบปลายปี สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อและกำลังการบริโภคของชาวจีน และไล่รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกที่ทำท่าชะลอตัว
สัญญาณเตือนในระดับโลกเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
แต่ใครจะรู้ว่า เข้าสู่ต้นปี 2020 เพียงไม่นาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก็ได้พบกับปัญหาใหม่อย่างการระบาดของไวรัสโคโรนาจากประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งก็คือ “ประเทศจีน” นั่นเอง
ท่องเที่ยวไทย ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักบาดเจ็บหนัก
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยที่เป็นกรุปทัวร์เฉลี่ย 800,000 คน หรือประมาณ 70% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด
หลังเกิดเหตุระบาดของไวรัสโคโรนาฯ วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคุมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (ATTA) มองว่า ไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปราว 2 เดือนนี้ประมาณ 1.2-1.3 ล้านราย ส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 48,000-52,000 ล้านบาท
ล่าสุด ททท. ปรับลดเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศเหลือ 2.91 ล้านล้านบาท ติดลบ 3.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่รายได้จากตลาดชาวต่างชาติ ปรับลดเป้าหมายเป็น 1.78 ล้านล้านบาท ติดลบ 7.7% หากเทียบกับปีที่แล้ว
เดิม ททท. ตั้งเป้าว่าจะสร้างรายได้มากถึง 2.03 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% ดังนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปราว 4.78 ล้านคนหรือเกือบ 5 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวได้คาดการณ์ว่าไทยจะสูญเสียรายได้ราว 3 แสนล้านบาท
ขณะที่คนที่ทำมาค้าขายในย่านค้าส่งขนาดใหญ่อย่างประตูน้ำ ก็ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้แย่มาก ทั้งลูกค้าคนจีน เวียดนาม สิงคโปร์กลัวกันไปหมด ไม่กล้าออกมาซื้อ
ธุรกิจการบินก็อ่วมไม่แพ้กัน อาจสูญเสียรายได้มากถึง 11,000 ล้านบาท
ขณะที่ด้านธุรกิจการบิน เราเห็นผลกระทบชัดเจน เนื่องจากผู้คนต่างตระหนกและหวาดกลัวจากการเดินทางท่องเที่ยว จึงทำให้จำนวนผู้เดินทางลดลง โดยเฉพาะสายการบินที่เดินทางไปยังจีนและออกมาจากจีน หลายสายการบินสั่งระงับการเดินทาง ตลอดจนสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ที่ขอไม่จ่ายเงินให้พนักงานเป็นเวลา 3 สัปดาห์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว เนื่องจากสายการบินคาเธ่ย์ฯ ที่บินไปยังจีนถูกระงับลงกว่า 90%
ธุรกิจการบินของไทย มีการแข่งขันตัดราคาอย่างหนัก ทำให้มูลค่าตลาดธุรกิจสายการบินหดตัวลง 3.5% อยู่ที่ 3.14 แสนล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว พอย่างเข้าสู่ปี 2020 ได้ไม่นาน ก็เจอกับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาฯ เข้าอีก ทำให้ความต้องการในการเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศลดลงครั้งแรกในรอบหลายปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเฉพาะไตรมาสแรกนี้ ผู้โดยสารของสายการบินในไทยทั้งปีจะลดลงจาก 80% เหลือ 72-73.4% มีผลทำให้มูลค่าธุรกิจหดตัวลง 4.3%-6.2% เหลือเพียง 2.94-3.00 แสนล้านบาท และยังคาดการณ์ว่า จากกรณีการระบาดของไวรัสโคโรนา จะส่งผลให้ธุรกิจการบินสูญเสียรายได้กว่า 8,000 -11,000 ล้านบาท และยิ่งเจาะดูตัวเลขเข้าไปข้างใน จะพบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยจะลดต่ำลงถึง 1.1 ล้านคนในปีนี้
มุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ คิดอย่างไรกับท่องเที่ยวไทยในปัจจุบัน
ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของ CIMB ไทย มองว่า จากกรณีไวรัสที่แพร่ระบาดจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยติดลบไปตลอดในช่วงครึ่งปีแรก 2020 พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้เหมือนคนติดไวรัสโคโรนา มีอาการไข้สูง หายใจติดขัด และไอ รายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งมีผลมาจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ที่เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนในช่วงครึ่งปีแรก 2020 โดยคาดการณ์ว่าหากนับแค่ภาคการท่องเที่ยวเที่ยวอย่างเดียวน่าจะกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.15% และนี่ยังไม่ได้นับผลกระทบทางอ้อมอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจการบริโภค ธุรกิจที่พักอาศัย ฯลฯ
ส่วนมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจรถขนส่ง ดูได้จากผู้ประกอบการทัวร์ในภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของชาวจีน โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้กลุ่มรถทัวร์ไม่มีงาน มีรถจอดพักอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,200 คัน
ส่วนด้านของ ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) ระบุว่า หลังจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ส่งผลให้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีการยกเลิกกรุ๊ปทัวร์กว่า 12,000 กรุ๊ป และทำให้(คนขับ)รถทัวร์ตกงานกว่า 4,000 คัน รายได้กลายเป็นศูนย์ เมื่อไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ สิ่งที่ต้องการตอนนี้คือ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ หาเงินทุนมาเสริมสภาพคล่องหรือให้มีการพักชำระหนี้
ส่วนด้านธุรกิจที่พัก ละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจไว้ว่า หลังจากปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตลาดนักท่องเที่ยวจีนในเชียงใหม่ซึ่งส่วนใหญ่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกการจองห้องพักกว่า 80-90% โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 3-5 ดาว เหลือนักท่องเที่ยวจีนไม่ถึง 15% ในปัจจุบัน ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ ไม่มีการจองห้องพักใหม่เข้ามาเพิ่ม ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นชะลอตัวตามไปด้วย ทั้งกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ยุโรปและอเมริกา พูดง่ายๆ คือปัจจุบันตัวเลขการจองห้องพักระยะสั้นเกือบเป็นศูนย์
ส่วนในด้านธุรกิจการบิน อมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า จากกรณีไวรัสโคโรน่าส่งผลให้ผู้โดยสารชาวจีนที่เดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่จากเดิมเฉลี่ย 5,000 คนต่อวัน ลดลงเหลือ 1,500 คนต่อวัน (นับทั้งขาเข้าและขาออก)
สรุป: ท่องเที่ยวไทย จะไปทางไหนดี
ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวมองปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เทียบกับช่วงไข้หวัดซาร์ส ต่างเห็นตรงกันว่า จีนน่าจะควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวได้ภายใน 3 เดือน หรือสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2020
ททท. เสนอทางออกหลักๆ 3 ทาง ดังนี้
- สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
- กระตุ้นการตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ
- เร่งหาตลาดชาติอื่นมาชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป คาดหวังว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น กลุ่ม CLMV กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน
นอกจากนั้น หนึ่งในคำตอบที่มีการเสนอขึ้นมาคือ นักท่องเที่ยวจีนหายไม่เป็นไร แผนสำรองของการท่องเที่ยวไทยคือ “ไทยเที่ยวไทย”
กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือที่เรียกว่าไทยเที่ยวไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้วางไว้แต่ช่วงปลายปี 2019 โดยให้ทุกกระทรวงสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านการจัดประชุมสัมนาให้มากขึ้น พร้อมทั้งเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นรายได้รวมของการท่องเที่ยวภายในประเทศขึ้นมาทดแทนตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปได้ เนื่องจาก “ไทยช่วยไทยคือไทยเท่”
แต่คำถามคือ ในสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน รวมกับปัจจัยอีกหลายอย่างที่คนไทยกำลังเผชิญ คนไทยจะช่วยไทยไหวหรือไม่?
เพราะแม้กระทั่งกูรู ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจในตอนนี้ ถ้าถามเรื่องการท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย ล้วนแต่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องไปลุ้นเอาที่ครึ่งปีหลัง”
จากปัจจัยในระดับโลก ลากมาตั้งแต่ผลกระทบจากสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว มาจนถึงการแพร่ระบาดของไวรัส ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศเองที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ทั้งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 2563 ที่ล่าช้า ต้องรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ
แน่นอนว่า จะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม เพราะเม็ดเงินก้อนใหญ่จากภาครัฐจะไม่ถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบตามที่ควรจะเป็น และไม่หมดแค่นั้นยังมีปัญหาอย่างภัยแล้งที่จะส่งผลต่อภาคการเกษตรและภาคแรงงานซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
เห็นแบบนี้แล้ว ต้องบอกว่าข้อเสนอเรื่องการฟื้นภาคการท่องเที่ยวที่บอกว่าให้ไทยช่วยไทย “อาจไม่เพียงพอ” เพราะเศรษฐกิจไทยภายในประเทศเองก็ร่อแร่อยู่พอสมควร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอ้างอิงจาก GDP ของไทยที่หลายสำนักคาดการณ์ในช่วงหลังมานี้ ต่างพากันปรับลดลงให้อยู่ที่ไม่เกิน 2.2% เท่านั้น (ทั้งๆ ที่เมื่อต้นปีประเมินกันไว้ว่าจะสูงถึง 2.8% เลยด้วยซ้ำ)
ดังนั้น สำหรับคำถามที่ว่า “ท่องเที่ยวไทย จะไปไหนทางไหนดี”
เอาเข้าจริง ยังคงเป็นคำถามที่ตอบยาก แต่สิ่งที่บอกได้แน่นอนตอนนี้คือ ขอให้คนไทยรักษาสุขภาพให้ดี ส่วนประเทศไทยก็ขอให้โชคดีเช่นกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา