บล.ภัทร ชี้ ไวรัสโคโรนา งบประมาณล่าช้า ภัยแล้ง ปัจจัยใหญ่ฉุดเศรษฐกิจไทยช่วงนี้

บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ได้ปรับตัวเลข GDP ไทยลงมาเหลือ 2.2% จาก 3 ความกังวลใหญ่ๆ คือ ไวรัสโคโรนา งบประมาณล่าช้า ภัยแล้ง และถ้าหากปัจจัยเหล่านี้ยืดเยื้อต่อ อาจส่งผลกระทบกับไทยมากกว่านี้

Thailand Face Masks Coronavirus ไวรัสโคโรนา
ภาพจาก Shutterstock

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ได้กล่าวถึงเรื่องเศรษฐกิจไทยภายใต้หัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจปี 2563 – ชวดไม่ชวด?” โดยมีมุมมองเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกก่อนหน้านี้ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาข่าวดีเยอะมาก เช่น ตัวเลขการผลิต ฯลฯ แต่เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น กลางเดือนมกราคมจนถึงปลายเดือนกลับมีข่าวร้ายเข้ามาเยอะมาก ทำให้ภัทรปรับตัวเลข GDP ไทยจาก 2.8% เหลือ 2.2%

สำหรับ 3 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ภัทรต้องปรับตัวเลข GDP ของไทยคือ

ไวรัสโคโรนา

พิพัฒน์ ได้กล่าวถึงว่า การแพร่กระจายของไวรัสพุ่งไวกว่าสมัย SARS มากๆ โดยล่าสุดตอนนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเกือบๆ 25,000 คนแล้ว และตอนนี้อัตราการเติบโตของการแพร่เชื้อไวรัสสูงกว่าสมัย SARS ไปแล้วด้วย แถมเพิ่มขึ้นไวขึ้นเรื่อยๆ โดยโลกเรายังไม่เคยเจออะไรแบบนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่สามารถมาเที่ยวประเทศไทยได้ทันที หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ประกาศแบนกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วน 28% ของนักท่องเทียวชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทย ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวไทยคิดเป็น 12% ของ GDP ส่งผลให้ทุกๆ 1 เดือนที่รัฐบาลจีนแบนกรุ๊ปทัวร์ จะกระทบ GDP 0.15% โดยยังไม่นับผลจากเรื่องอื่นๆ

พิพัฒน์ ยังมองว่าจากกรณีของไวรัสโคโรนาจะต่างกับสมัยโรค SARS คือคนจีนออกไปเที่ยวต่างประเทศน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยประเทศไทยตอนเกิดวิกฤติโรค SARS มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยประมาณ 770,000 ราย แต่ตอนนี้คือ 11 ล้านราย

ขณะที่ผลกระทบต่อมาคือเรื่องห่วงโซ่การผลิต เพราะว่าเมืองอู่ฮั่นเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตสำคัญๆ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ ยังรวมไปถึงการที่รัฐบาลจีนสั่งหยุดเพิ่มเติม แต่ พิพัฒน์ ยังมองว่าสินค้าอุตสาหกรรมยังสั่งผลิตเพิ่มได้ถ้าหากวิกฤติไวรัสนี้ควบคุมได้ แต่ก็มีความเสียหายที่ไม่สามารถนำกลับมาไม่ได้ เช่น ทุเรียน ลำใย ขายไม่ได้ หรือสินค้าเกษตรส่งออกไปจีน 

สิ่งที่ต้องติดตามคือไวรัสแพร่กระจายเยอะขนาดไหน และส่งผลต่อนักท่องเที่ยวที่มาไทยแค่ไหน

งบประมาณล่าช้า

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ปี 2563 นั้นประสบกับความล่าช้า และต้องยังต้องรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน ร่าง พรบ. นี้ล่าช้าไปแล้วถึง 4 เดือน และอาจต้องเลื่อนเวลาใช้บังคับออกไปอีก ในช่วงที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปี ก่อนอย่างมีนัยสำคัญ หากมีความล่าช้าออกไปอีกจะกระทบต่อเศรษฐกิจจากเม็ดเงินที่ไม่ ถูกฉีดเข้าสู่ระบบตามที่ควรจะเป็น

พิพัฒน์ มองว่า ที่แน่ๆ คืองบประมาณนั้นไม่ว่าผลของการพิจารณาของศาลจะออกมารูปแบบใด ก็ส่งผลทำให้งบประมาณปี 2563 นั้นล่าช้า อย่างไรก็ดีประเทศไทยของเราจะไม่เคยเกิดปัญหา Goverment Shutdown เหมือนประเทศอื่นๆ เพราะในไทยนั้น เงินเดือนราชการยังเบิกได้ มีเพียงแค่โครงการใหม่ๆ เบิกไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วคืองบเบิกจ่ายหายไปกว่า 21% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 260,000 ล้านบาท ส่งผลต่อ GDP ไตรมาส 1 ทันที

และปัญหาใหญ่ที่ พิพัฒน์ ได้มองไว้คือถ้างบประมาณล่าช้าไปอีก 2 เดือน ก็จะเหลือให้เบิกจ่ายได้อีกแค่ 6 เดือน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยถาวร

ภัยแล้ง

อีกปัจจัยที่สำคัญ และต้องจับตามองนั่นก็คือ เรื่องของภัยแล้ง พิพัฒน์ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ตอนนี้มีระดับต่ำมาก อย่างที่เราเคยได้ยินผลกระทบมาบ้างแล้วคือ น้ำประปากร่อย แต่ผู้ที่ได้รับผลหนักๆ คือภาคการเกษตร ซึ่งคิดเป็น 8% ของ GDP ไทย โดย พิพัฒน์ คาดว่าไม่กระทบมาก แต่ที่ส่งผลกระทบหนักๆ คือภาคแรงงานที่อาจมีสิทธิ์กระทบได้ถึง 1 ใน 3 ซึ่งถือว่ามาก

พิพัฒน์ ได้สรุปมุมมองของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ว่าเจอ 3 เรื่องสำคัญ แต่คาดว่าน่าจะเป็นระยะสั้น แต่ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอยหรือไม่ ต้องมาดูว่าปัญหาเหล่านี้จะยืดเยื้อต่อหรือไม่ ถ้าหากยืดเยื้อยาวนานคืออาจทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (เศรษฐกิจไม่เติบโตติดต่อกัน 2 ไตรมาส)

นอกจากนี้ พิพัฒน์ ยังมีความกังวลว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลทำให้ระยะยาวเติบโตได้ยากมากขึ้น และหวังว่านอกจากนโยบายการเงินจะมีนโยบายการคลังจากรัฐบาลออกมาเพิ่มเติมด้วย เขาเองยังมองว่า วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือไม่ใช่การออกแคมเปญ ช้อปชิมชิล ฯลฯ แต่รัฐบาลต้องมีโครงการที่กระตุ้นในระยะยาว คุ้มค่าในการลงทุน ไม่ใช่ใช้แล้วหายไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ