ในยุคที่อุตสาหกรรมธนาคารพบกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น จากบริษัทเทคโนโลยี หรือแม้แต่พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทำให้ธนาคารกสิกรไทยก็เป็น 1 ในธนาคารที่ต้องปรับตัวเช่นกัน นอกจากนี้แล้วธนาคารเองยังต้องพัฒนาในด้านต่างๆ รวมไปถึงเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กร จึงเป็นที่มาของการประกาศยุทธศาสตร์ยกระดับองค์กรของตัวธนาคารเอง ภายใต้แผน 8 อย่างของธนาคาร ภายใต้ชื่องาน A STEP AHEAD FOREVER
คุณขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า โลกเราอยู่ในยุคที่ความท้าทายเข้ามาในหลากหลายธุรกิจ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสการ Disruption รุนแรงจนทำให้ธุรกิจหลายรายล้มหายตายจากไปแต่ในทางกลับกันก็มีผู้ที่ปรับตัวสำเร็จและอยู่รอดหลายราย เช่น กรณีของหนังสือพิมพ์ New York Times ที่ปรับตัวจากโมเดลการโฆษณามาเป็นการจ่ายค่าสมาชิก และสร้างรายได้เยอะกว่าในอดีตด้วยซ้ำ
แน่นอนว่าธนาคารกสิกรไทยต้องพบกับความท้าทายหลายอย่างเช่นกัน ในอดีตที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยมีชื่อเสียงปรับตัวก่อนคนอื่นเสมอๆ (A Step Ahead) ไม่ว่าจะเป็นการ Re-Engineering องค์กร ปรับขั้นตอนการทำงานต่างๆ ให้รวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2535 หรือแม้แต่วิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540 ธนาคารกสิกรไทยเป็นไม่กี่ธนาคารที่ระดมทุนจากต่างประเทศได้ทันเวลา
แต่การปรับตัวในอดีต ไม่ได้แปลว่าจะอยู่รอดได้ในอนาคต ในวันนี้ธนาคารกสิกรจึงต้องปรับตัวเองก่อนคนอื่นอีกครั้ง เดินหน้าภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่เพิ่มศักยภาพตัวเองให้เป็นธนาคารระดับภูมิภาค และลงทุนในเทคโนโลยีระดับโลก
เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดในปี 2020
ธนาคารตั้งเป้าที่จะเพิ่มอำนาจแก่ลูกค้า (Empower) ใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกค้าใช้บริการแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระหว่าง K PLUS กับแพลตฟอร์มของพันธมิตรของธนาคารได้อย่างลื่นไหล ไม่มีสะดุด รวมไปถึงนำบริการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมในK PLUS เช่น การแลกแต้มบัตรเครดิต หรือแต้มต่างๆ ได้เลยทันที
ในด้านเทคโนโลยี ธนาคารยังเตรียมก่อตั้งบริษัทลูก KAITAI TECH ที่เซินเจิ้น เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการข้ามประเทศที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงการก่อตั้งบริษัท KASIKORN X เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับตัวธนาคาร และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาให้บริการกับลูกค้าของธนาคารได้เพิ่มมากขึ้น
แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นถ้าไม่มีการบริหารจัดการตัวธุรกิจธนาคารที่ดี โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ของธนาคาร ภายใต้ความเสี่ยงที่เราอาจไม่รู้ ทำให้ลูกค้าก็อาจสบายใจ หรือไม่ไว้วางใจได้ Brand Inside จะพาไปดูกันว่า ธนาคารกสิกรไทยจัดการในเรื่องนี้ได้อย่างไร
คุณปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าขณะที่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ผู้คนเข้าถึงบริการสะดวกขึ้น และทำให้ธุรกิจเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับธุรกิจเสมอ และไม่เคยหยุดนิ่งเช่นกัน
คุณปรีดี บอกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและความกังวลให้แก่ลูกค้าธนาคาร แบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
- กังวลเรื่องความปลอดภัย (Secure)
- กังวลเรื่องความถูกต้อง (Correct)
- กังวลเรื่องความน่าเชื่อถือ (Trustworthy)
ธนาคารจึงบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงรุก (Proactive Risk Management) เพื่อ ลดความกังวลให้แก่ลูกค้าประกอบไปด้วย
1. จัดการความเสี่ยงพื้นฐานจากการให้บริการทางการเงิน (Banking Services) สถาบันการเงินในทุกยุคสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างก็ต้องเผชิญและรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ เช่น ในอดีตเราจะเห็นธนาคารเสียความเชื่อมั่น จนเกิดเหตุการณ์ประชาชนจำนวนมากแห่ไปถอนเงิน หรือกรณีการปฏิบัติงานผิดพลาดของธนาคาร รวมไปถึงการทุจริต ที่เห็นตามข่าวอยู่บ่อยครั้ง
เพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้ ธนาคารกสิกรไทยมีมาตรการรักษาความมั่นคงทางการเงินไว้ เพื่อให้ธนาคารยังคงอยู่ได้ โดยธนาคารมีสัดส่วนเงินกองทุนที่สูงถึง 171% ของหลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมไปถึงมีสัดส่วนด้านสภาพคล่องถึง 188% ของหลักเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของธนาคารไทย
นอกจากนี้ธนาคารเองยังทดสอบการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น อาจทำให้ประชาชนจำนวนมากแห่ไปถอนเงิน หรือ การเกิดขึ้นกฎระเบียบใหม่ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงในด้านเงินกองทุนหรือสภาพคล่องอยู่เสมอๆ เพื่อให้ธนาคารปกป้องเงินฝากและเงินลงทุนของลูกค้าไว้ได้ แม้เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ และมีสภาพคล่องที่พร้อมจะบริการธุรกรรมต่างๆ ตลอดเวลา
2. จัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากบริการที่เป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ธนาคารต้องบริหารจัดการหลังจากที่ตัวธนาคารเพิ่มบริการที่เป็นดิจิทัล เช่น ความไม่เสถียรของการให้บริการ เรื่องของภัยบนโลกไซเบอร์ การแฮ็กระบบ จนไปถึงความเสี่ยงของข้อมูลของลูกค้า ธนาคารกสิกรไทยจึงมีการจัดการตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยสากล รวมไปถึงมีการอบรมพนักงานผ่านโครงการ Cyber DNA เพื่อปกป้องภัยด้านไซเบอร์
นอกจากการป้องกันพื้นฐานแล้ว ธนาคารยังนำเทคโนโลยีด้าน AI และ Machine Learning มาใช้ตรวจจับความผิดปกติในบริการดิจิทัลต่างๆ ส่งผลให้ธนาคารได้รับรางวัล VISA Champion Security Award ประจำปี 2019 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Visa เนื่องจากอัตราส่วนรายการทุจริตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราส่วนที่ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นและค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการเงินประเทศไทย
3. จัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Integration) ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายการเป็นพลเมืองที่ดีของโลก เพื่อสร้างผลลัพธ์และคุณค่าที่ยั่งยืนแก่สังคมและประเทศชาติ ด้วยการดำเนินงานบนรากฐานของการเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อมและสังคม
คุณปรีดี กล่าวว่าก่อนหน้านี้ ธนาคารเองยึดถือหลักนี้มาตลอด แต่ในปีนี้จะเน้นย้ำในเรื่องของ ESG (Environmental, Social, and Governance) มากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมธนาคารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้โลกใบนี้ดีขึ้นอีกทาง
มาตรการด้าน ESG ของธนาคารกสิกรไทย มีตั้งแต่ไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสังคม แต่สนับสนุนสินเชื่อให้ธุรกิจที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น สินเชื่อพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในสังคม รวมไปถึงออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน ฯลฯ เพื่อที่จะสนับสนุนโครงการดีๆ ให้เกิดขึ้น
นโยบายนี้ทำให้ธนาคารกสิกรไทยติดดัชนีความยั่งยืน DJSI ของดาวโจนส์ เป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจระดับโลกถึง 4 ปีติดต่อกัน รวมไปถึงดัชนีความยั่งยืนจากสถาบันอื่น เช่น MSCI หรือ FTSE ฯลฯ สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนด้วย
สิ่งที่ธนาคารทำทั้งหมดนี้ เพื่อให้ลูกค้าเพิ่มอำนาจให้ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจอย่างไร้ความกังวล และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเสมอๆ รวมไปถึงนักลงทุนของธนาคารกสิกรไทยมีความสบายใจเพราะธนาคารมีการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จึงทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง น่าเชื่อถือ รวมไปถึงสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา