เป็นเรื่องที่ “ลูกจ้าง” น่าจะดีใจ เสียดายที่ไม่ได้เกิดในไทยแต่เป็นที่ฝรั่งเศส โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 เป็นต้นไป พนักงานลูกจ้างจะได้รับ “สิทธิ์การเพิกเฉย” (right to disconnect) จากอุปกรณ์ต่างๆ นอกเหนือเวลางาน
กฎหมายแรงงานของฝรั่งเศสฉบับนี้ ได้เพิ่มข้อบังคับให้กับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 50 คนขึ้นไปต้องให้ right to disconnect หรือ สิทธิ์การเพิกเฉย ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อทำงานนอกเหนือเวลางาน เพราะเป็นสาเหตุของการสร้างความเครียดสะสม อาการนอนไม่หลับ รวมถึงปัญหาด้านครอบครัวต่างๆ ให้กับพนักงาน
วัฒนธรรมการทำงานแบบที่ต้องเช็คตลอดเวลาเรียกว่า “always-on” ให้ความคล่องตัวในการทำงาน คือพนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ มีความยืดหยุ่นสูง และนั่นทำให้เวลาการทำงานหายไป
ถ้าจะให้ทำงาน ต้องจ่ายเงินล่วงเวลา
ภายใต้กฎหมายใหม่ บริษัทจะต้องให้สิทธิ์ที่ว่านี้กับพนักงาน คือต้องสามารถ “switch off” คือปิดการเชื่อมต่อ หรือลดการทำงานเพื่อให้มีเวลาส่วนตัวมากขึ้น ต้องประกาศเวลาการทำงานที่ชัดเจน และถ้าจะมีการทำงานนอกเวลา ก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ด้วย
สหภาพการค้าของฝรั่งเศส ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสถานที่ทำงานและเวลาในการทำงาน ที่ต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกฎหมายแรงงานฝรั่งเศส
สำหรับกรณีการกำหนดชั่วโมงทำงาน มีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Volkswagen และ Daimler บริษัทรถยนต์ในเยอรมนี หรือ Areva ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานนิวเครียร์ และ Axa บริษัทด้านประกันภัยในฝรั่งเศส ลดการส่งข้อความนอกเวลางานให้กับพนักงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความเครียดที่เพิ่มขึ้น โดยลดการส่งอีเมลในช่วงหลังเลิกงาน, ช่วงสุดสัปดาห์ หรือปิดระบบอีเมลอัตโนมัติที่จะส่งไปช่วงวันหยุดเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาในฝรั่งเศสระบุว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานในฝรั่งเศสใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อทำงานช่วงนอกเวลางานทุกวัน โดย 60% ดีใจที่มีกฎระเบียบเรื่อง right to disconnect ออกมา
สรุป
อย่างไรก็ตาม โลกของการทำงานได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี มีพนักงานจำนวนมากที่ทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในโซนเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ยุโรป อเมริกาและเอเชีย นี่จึงไม่ใช่เส้นแบ่งแค่ที่ทำงานกับบ้าน แต่ยังมีรายละเอียดอื่นที่ต้องสนใจ แต่อย่างน้อยการมี “right to disconnect” เกิดขึ้น จะทำให้คนในบริษัททุกระดับหารือกันถึงเรื่องนี้มากขึ้น
สำหรับในประเทศไทย นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่ right to disconnect เกิดขึ้น แปลว่าต้องมีเวลางานที่ชัดเจน (จึงจะเพิกเฉยต่องานที่อยู่นอกเวลางานได้) แต่ก็มีงานหลายอาชีพที่ไม่มีเวลางานชัดเจน หรือ เป็นบริษัทข้ามชาติที่ต้องประสานงานคนละโซนเวลา ดังนั้นก็ขึ้นกับผลตอบแทนที่บริษัทจะมอบให้ คือควรมีการคุยกันเรื่องนี้ โดยไม่ต้องรอกฎหมาย (เพราะไม่น่าจะมี)
ที่มา: The Guardian
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา