ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้ปรับประมาณการตัวเลข GDP ไทยปี 2020 เติบโตเพียง 2.7% และคาดว่าส่งออกของไทยปีนี้จะโตแค่ 0.2% เท่านั้น
SCB EIC คาดเศรษฐกิจไทยปี 2563 เติบโตที่ 2.7% จากเดิมที่ 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลข GDP ของปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ตามภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากภาวะการค้าโลกที่น่าจะปรับดีขึ้นบ้าง ขณะที่เรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังเป็นปัจจัยที่กดดันผู้ส่งออกของไทยอยู่
- เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง คาดสิ้นปี 2020 จะอยู่ในกรอบ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
- ม. หอการค้าไทยเผย ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ต่ำสุดในรอบ 68 เดือน ไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว
- แบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ระบบการเงินมีเสถียรภาพแต่ยังเปราะบาง
มองภาพรวม
ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มที่จะฟื้นตัวแล้ว รวมไปถึงสถาบันการเงินใหญ่ๆ รวมไปถึง World Bank และ IMF มองว่าฟื้นตัวช้าๆ อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาปีนี้น่าจะชะลอลง
ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ Sentiment มีทั้งข้อดีข้อเสียปนๆ กัน CEO ยังกังวล 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องสงครามการค้ากับ Geopolitics
สำหรับเศรษฐกิจจีนปีนี้น่าจะต่ำกว่า 6% ซึ่งโตต่ำสุดตั้งแต่ปี 1990 ผลจากนโยบายจีนเองและสงครามการค้า แต่ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) ปีนี้จะโตมาจาก ลาตินอเมริกา รวมไปถึงแอฟริกา ซึ่งเติบโตเพราะปีที่ผ่านมามีปัญหา แต่ไทยไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่เพราะเราไม่ได้ค้าขายกับกลุ่มนี้มากนัก
มองเศรษฐกิจไทยปีนี้
โดย EIC มองว่า ภาคส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทที่แข็งค่าสะสมกว่า 24% เมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อรายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย
ยรรยง ยังได้กล่าวว่า “คาดว่าส่งออกปีนี้น่าจะอยู่ 0.2% และน่าจะโตครึ่งหลังของปีนี้ เพราะคู่ค้าใหญ่ๆ ของไทย เศรษฐกิจพึ่งจะฟื้นตัว” ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง นอกจากนั้นแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังขยายตัวได้แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน
สำหรับภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องจากปัจจัยกดดันหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำต่อเนื่อง รายได้นอกภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว ส่วนรายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนในระยะต่อไป
ด้านการลงทุนภาคเอกชน นอกจากจะมีแนวโน้มชะลอลงตามกำลังซื้อในประเทศแล้ว อัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ และระดับสินค้าคงคลังภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
ปีนี้จะได้เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล
ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการประคับประคองเศรษฐกิจปี 2563 ทั้งในรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลกลุ่มเปราะบางระยะสั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน โดยเฉพาะการเปิดประมูลโครงการ 5G ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ประกอบกับการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าจากเมื่อปลายปี 2562 จึงทำให้หลายโครงการมีการเลื่อนเบิกจ่ายมาในปี 2563
นอกจากนี้ยังรวมไปถึแนวนโยบายการเงินและการคลังของหลายประเทศทั่วโลกที่มีทิศทางผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจทำให้ SCB EIC คาดว่า GDP ของไทยจะเติบโตที่ 2.7% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่ควรจะเป็นที่ 3.5%
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ ยรรยง กังวลคือเรื่องของ เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงจุดต่ำสุดๆ เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาหลายๆ ตัวยังลดลงอยู่ ซึ่งได้ภาครัฐยังช่วยไว้ได้อยู่
ขณะที่ค่าเงินบาทได้คาดไว้ที่ประมาณ 29.5 ถึง 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีนี้
สำหรับความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2563 มี 3 ปัจจัย ที่ EIC มองไว้ ได้แก่
- ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ด้านสงครามการค้า แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจกระทบต่อการค้าโลกได้ อาทิ การเจรจากับจีนในระยะต่อไป การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป และการพิจารณาของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ของหลายประเทศ
- ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง และประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
- ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ในระดับสูงและการสร้างรายได้ถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Disruption) และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา