รายงานจาก Internet Trend Report ปี 2019 เผย ในจีนมีคนดูคลิปวิดีโอสั้นรวมกันได้มากถึง 600 ล้านชั่วโมง Ringo Li คือตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของคนจีนเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
Li คือพนักงานการเงินที่ย้ายจากญี่ปุ่นกลับจีนในปี 2010 เขาใช้โทรศัพท์เครื่องแรกแค่การโทรเข้า-โทรออก ส่งข้อความ และใช้อินเทอร์เน็ตบ้าง เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโลกออฟไลน์ กินข้าวที่ร้านอาหาร จ่ายบิลด้วยเงินสด โบกรถเรียกแท็กซี่เวลาไปไหนมาไหน
10 ปีที่ผ่านมา ชีวิต Li เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขาไม่ได้ทำงานสายการเงินอีก สื่อสารผ่าน WeChat (วีแชท) และใช้แอปฯ สั่งอาหาร, เรียกรถแท็กซี่, จ่ายบิล และชอปปิง ซึ่งแอปฯ ส่วนใหญ่ที่ Li ใช้ ก็เหมือนคนจีนอีกเป็นร้อยล้านคนที่ใช้เหมือนกันในช่วงเริ่มต้นทศวรรษ
WeChat เริ่มต้นในปี 2011 เป็นแอปฯ ที่ใช้ส่งข้อความเหมือนกับ Line หรือ WhatsApp นี่แหละ แต่ใช้ได้ดีมากในซุปเปอร์แอปฯ (แอปพลิเคชันที่รวบรวมการให้บริการหลายอย่างไว้ในแอปฯ เดียว) วันนี้คนจีนใช้แอปฯ WeChat มาถึง 1.15 พันล้านราย
ขณะที่แอปฯ สั่งอาหารเดลิเวอรี่อย่าง Meituan (เหมยต้วน) ที่ก่อตั้งในปี 2010 และแอปฯ Dianping (เตียนผิง) ที่เป็นเหมือนแอปฯ Groupon หรือแอปฯ ที่จับมือกับร้านค้าที่ให้บริการและขายสินค้าหลากหลาย จากนั้นก็เสนอดีลให้ลูกค้า โดยลูกค้าที่รวมตัวกันผ่านโซเชียลมีเดียจนได้ครบตามจำนวนที่เงื่อนไขกำหนดจะได้ดีลพิเศษนี้ไป
นี่ยังไม่รวมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Taobao (เถาเป่า) ของอาลีบาบาที่เปรียบเหมือน Amazon ของจีน เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชาวจีนจากโลกออฟไลน์ให้คุ้นชินกับวิถีชีวิตในโลกออนไลน์ทั้งนั้น
ประเด็นนี้ Michael McLaughlin นักวิเคราะห์ด้าน IT และนวัตกรรมบอกว่า จีนเติบโตอย่างรวดเร็ว จีนเปลี่ยนตัวเองจากคนขี้ลอกให้กลายเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมได้ อีกทั้ง จีนยังมุ่งหน้าเข้าสู่ยุคของการใช้แอปฯ ในโทรศัพท์ด้วย China Internet Network Information Center ระบุ จำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์นี้เติบโตขึ้นมากถึง 847 ล้านราย หรือประมาณ 4-5 เท่าภายใน 10 ปี
ย้อนกลับมาที่ Ringo Li แอปฯ เปลี่ยนชีวิตเขาไปจากเดิม ในปี 2014 เขาเริ่มเป็นบล็อกเกอร์ใน WeChat เขียนหลายเรื่องที่น่าสนใจจนมีคนตามมากกว่า 5 แสนราย โฆษณาและทิปส์ที่ได้จาก WeChat สร้างรายได้ให้เขามากถึง 1 หมื่นหยวนต่อเดือน Li บอกว่า WeChat ทำให้เขาโด่งดังขึ้น ตอนนี้เขากำลังหาช่องทางอื่นเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น พอดแคสท์และคลิปวิดีโอสั้น
ขณะที่ Jane Chen วัย 29 ปี อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเฉิงตู Chen ก็ใช้ชีวิตผ่านแอปฯ ในมือถือเหมือนอย่าง Li เธอบอกว่า เธอใช้แอปฯ ไว้คุยกับเพื่อน อ่านข่าว จ่ายบิล จองคลาสโยคะ สั่งอาหาร และเรียกรถโดยสารมารับ เธอบอกว่า การไปยืนโบกรถข้างถนนมันไม่เวิร์กอีกต่อไปละ
แอปฯ จากสมาร์ทโฟนเปลี่ยนชีวิตคนจีนไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรถที่มีการขนส่งขาดตอนในหลายช่วงจนมีแอปฯ Didi ให้คนจีนเรียกรถได้สะดวกขึ้น หรือจะเป็นแอปฯ แชร์จักรยานให้ขี่ สารพัดแอปฯ ที่เกิดขึ้น ทั้งกิน เที่ยว ใช้ชีวิต เหล่านี้ล้วนตอบโจทย์คนใช้งานได้มาก รายงานจาก Internet Trend Report เผยให้เห็นว่า แอปฯ คลิปวิดีโอสั้นของ Kuaishou นิยมใช้กันมากในชนบท
มีรายงานเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า TikTok หรือที่รู้จักกันในชื่อ Douyin (ตู้หยิน) มีผู้ใช้งานแอปฯ นี้มากถึง 320 ล้านรายต่อวัน TikTok ยังเป็นแอปฯ จีนเจ้าแรกที่ทำให้คนยุโรปและอเมริกันนิยมใช้ด้วย
ที่มา – South China Morning Post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา