SCG, โคคา โคล่า, แบรนดิ เผยกลยุทธ์เอาใจผู้บริโภคสายรักษ์โลก ไม่ฉาบฉวย-ผิวเผิน เน้นความยั่งยืน

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนา “แลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก 3 แบรนด์ดังจับใจผู้บริโคสายอีโค” (Eco, Ecology) ประกอบด้วย ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด, นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัท โคคา โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด และวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Management Office บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

ภาพจาก CMMU

“ทำไมวันนี้เราต้องใส่ใจกับการให้ความยั่งยืนอย่างจริงจัง”

ปิยะชาติ อธิบายว่า “ในบริบทของการเป็นที่ปรึกษามาตลอด พบว่า ความยั่งยืนมีวิวัฒนาการแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงทันสมัย กับช่วงพัฒนา ห้าปีที่แล้วคนพูดถึงความยั่งยืนกันหมด แต่ลงมือทำจริงแค่ไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

“ต่อมา เริ่มเกิดปัญหาในเชิงโครงสร้าง คือเริ่มกระทบต่อชีวิตเรา เช่น เรื่องฝุ่น มลพิษ จากเดิมความยั่งยืนที่เป็นแค่เรื่องทันสมัย ตอนนี้ ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เราซื้อ มันกลายเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำและทำในระดับพัฒนา”

ปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด ภาพจาก CMMU

บริษัทหรือองค์กรอย่างโคคา โคล่า ทำอะไรที่เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมบ้าง?

นันทิวัต ระบุว่า “ถ้าพูดถึงความยั่งยืน กลุ่มธุรกิจจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ถ้าธุรกิจนั้นๆ เป็นภาระต่อสังคม เรามองว่าความยั่งยืนนั้นไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจ แต่มองว่าเป็นเรื่องของการเติบโต เรามองว่าเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม”

“เรามีโครงการ “โค้กขอคืน” ซึ่งเราร่วมมือกับเซ็นทรัลที่ต้องการลดขยะเช่นกัน ก็มีการช่วยกันลดขยะภายในห้าง และเราก็ร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่ชื่อ “เก็บ” เก็บขยะมารีไซเคิลด้วย” 

SCG ก็มีแผนการดำเนินธุรกิจที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

วีนัส เผยว่า “เรามองว่าทำไมธุรกิจต้องทำความยั่งยืน ปีนี้ SCG อายุ 107 ปีก่อตั้งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 6 จากนั้นองค์กรเราเริ่มผลิตปูนซีเมนต์และทำธุรกิจแพคเกจจิ้ง ปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกที่ไปทำพลาสติก) ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นส่วนน้อยของธุรกิจเรา ตอนนี้เราทำพลาสติกที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์เช่น ถุงน้ำเกลือ ผ้ารองผ่าตัด ฯลฯ”

“นวัตกรรมมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าธุรกิจคิดแค่ทำเพื่อให้ได้เงิน สังคมอยู่ไม่ได้ มนุษย์อยู่ไม่ได้ ก็ขายของให้ใครไม่ได้ เราต้องอยู่ด้วยกันในสังคมที่ยั่งยืน SCG ไม่ได้อยากมีอายุแค่ 107 ปีอยากมียาวไปถึง 1,000 ปี”

“แคมเปญที่คิดว่าเป็นความรู้ให้สังคม เราใช้ชื่อว่า circular economy คือการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เมื่อทรัพยากรนำมาผลิตใช้ แทนที่จะทิ้งไป เรามี know how นำถุงพลาสติกมารวมกับยางมะตอยมาทำถนน คุณภาพก็ค่อนข้างดี”

นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัท โคคา โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ภาพจาก CMMU

ความท้าทายที่เกิดขึ้น องค์กรธุรกิจควรมีแนวทางที่จะก้าวข้ามไปได้

ปิยะชาติ “อินเทอร์เน็ตทำให้เรามีความต้องการเกี่ยวกับสินค้ามากขึ้น เมื่อโซเชียลบูมก็เริ่มอ่านรีวิวมากขึ้น ยุคนี้ ความท้าทายคือ mindset ซึ่งเป็น mindset ของระบบนิเวศน์ทั้งหมด ลูกค้าไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป คนในองค์กรธุรกิจต้องไปด้วยกันหมด เสน่ห์ของธุรกิจมีทางไปเสมอ”

“อะไรก็ตามมีสถานะเป็น “ขยะ” ถ้าเราสร้างธุรกิจจากสิ่งที่ไม่มีใครอยากได้ คนที่ไม่มีใครอยากให้ทำงาน เราสร้างธุรกิจที่มันมีเหลือเฟือ waste จะเป็นสถานะที่สามารถต่อยอดได้ ทำให้เกิดวิธีคิดในการทำธุรกิจใหม่ได้ เราสร้างสิ่งเหมาะสมระหว่าง business กับ goodness ได้อย่างไร” 

“ถ้าเราจะบอกให้เขาทำดี แต่เขาอยู่ไม่ได้ อันนี้คือภาระ เราต้องมองสิ่งเหล่านี้เป็น capital คือ ลงทุน 1 ล้าน ได้กลับคืนมา 3 ล้าน ไม่ใช่มองเป็นทรัพยากรเพราะมันเป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป” 

วีนัส อัศวสิทธิถาวะ ผู้อำนวยการ Enterprise Management Office บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ภาพจาก CMMU

ความท้าทายที่ต้องเผชิญ และต้องฝ่าฟันไปให้ได้

นันทิวัต “เราจะทำยังไงให้คนแยกขยะ ให้เขารู้สึกว่า เห็นขวดและมองเป็นบรรจุภัณฑ์ หาทางนำกลับมาใช้ใหม่ เราต้องพยายามไปเปลี่ยนโลก เปลี่ยนผู้บริโภคในส่วนนี้ด้วย เราต้องใช้หลักการตลาดคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมและ mindeset ของลูกค้า เราก็ต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับลูกค้า”

“เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลก เราจะคาดหวังกับคนรุ่นเก่าไม่ได้แล้ว แต่ผลวิจัยกลับชี้ให้เห็นว่า คนรุ่น Baby boomer กลับเป็นฝ่ายลงมือทำมากกว่าคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวที่คิดอย่างเดียวแต่ไม่ค่อยได้ทำ กลุ่ม Baby Boomer กลับแยกขยะมากกว่าคนหนุ่มสาวเสียอีก อาจจะเป็นเพราะว่าเขามีเวลามากกว่าก็ได้”

“อย่างประเด็นเรื่องการแยกขยะ กลับเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับการใช้ชีวิต ก็ต้องหาวิธีที่ทำให้มันง่ายขึ้น เป็นต้น”

ขณะที่วีนัส เล่าว่า “SCG ถือเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่ทำ จึงไม่ได้พึ่ง consumer insight เท่าไร จึงเริ่มที่ตัวเองก่อน จากพนักงาน 7-8,000 คน ใช้วิธีคิด ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก เราสนใจที่สุดคือ food waste คือขยะเปรอะเปื้อน เช่น กล่อง KFC อันนี้รีไซเคิลยาก เพราะมีน้ำมันติดอยู่”

“นอกจากนี้ เราก็มีขยะขวดพลาสติกวัน 5,000 ใบ เราก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมพนักงาน เช่น เอาขวดไปเอง วันนี้ขยะก็น้อยลง ตอนนี้เรานำเศษอาหารมาทำสารปรุงแต่งดินหรือปุ๋ยได้มากเลย ตอนนี้ทำแจกเฉพาะในพนักงานและคนในชุมชนรอบข้าง”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา