ทิตนันทิ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า คณะกรรมกรนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการเดิม ต่ำกว่าระดับศักยภาพ ส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
เศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปี 2563 นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน
กนง. กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้แข็งค่าชะลอลงทั้งสองทิศทาง แต่ยังติดตามต่อไป ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง
ขณะที่ด้านแรงงานนั้น การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลง ธุรกิจนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานมากขึ้น รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนเป็นการรับเหมาบริการ sub-contract มากขึ้น ความมั่นคงและสวัสดิการน้อยกว่าจ้างงานประจำ
แรงงานที่ถูกเลิกจ้างอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานยากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด มีโอกาสที่รายได้อาจลดลง หากเลือกงานไม่ได้จนทำให้ต้องย้ายเข้าสู่ภาคธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า สวัสดิการและความมั่นคงทางรายได้อาจไม่เหมือนเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงาน
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นายจ้างในหลายอุตสาหกรรมปรับตัวด้วยการ
- ยุบกะทำงาน เช่น จาก 3 กะ เหลือ 2 กะ
- ยกเลิกสัญญาจ้าง
- เสนอ Early Retirement
- แปลงรูปแบบการจ้างงาน
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมช่วงปลายปี 2562 กระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชนได้ในระยะสั้น การบริโภคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนลดลง หนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาภัยแล้งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อรายได้เกษตรกรในปี 2563
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจ SMEs เป็นจุดเปราะบางโดย
- (1) สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
- (2) คุณภาพสินเชื่อ SMEs ด้อยลงต่อเนื่อง
ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้ต่อเดือนสูง ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งมีระยะเวลาผ่อนชำระสั้นและอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่ด้านการออมนั้น ไทยมีการออมสูง ลงทุนต่ำ
ขณะที่ภาคธุรกิจนั้น การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและโครงสร้างธุรกจมีการกระจุกตัวในบริษัทขนาดใหญ่ ในขณะที่ SMEs มีความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง
ภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวสูง และมีอำนาจตลาดมากขึ้น จึงนำไปสู่อัตราการเติบโตของผลิตภาพที่ต่ำ โอกาสอยู่รอดในตลาดต่างประเทศต่ำ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่ำ มีอัตราการลงทุนต่ำ
ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา