เงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง คาดสิ้นปี 2020 จะอยู่ในกรอบ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

EIC ประเมิน เงินบาทไทยในปี 2020 จะเผชิญแรงกดดันแข็งค่าต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่น้อยลง โดยสิ้นปี 2020 เงินบาทจะอยู่ในกรอบ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

เนื่องจาก ไทยยังเผชิญปัจจัยโครงสร้างที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง ความต้องการลงทุนในต่างประเทศยังต่ำ ทำให้มีความต้องการเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐในปริมาณมาก 

เงินบาทช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแบงก์ชาติกล่าวว่าการแข็งค่าอย่างรวดเร็วนี้เป็นผลจากสภาพคล่องในตลาดเงินอยู่ในระดับต่ำในช่วงวันหยุดเทศกาล ทำให้การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราไม่สมดุล 

EIC ปรับมุมมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 อยู่ในกรอบ 29.5-30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ จากคาดการณ์เดิมไตรมาสก่อนอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

โดยค่าเงินบาทปี 2019 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 4.1% จากปี 2018 ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาทในปี 2019 เฉลี่ยอยู่ที่ 123.2 ปรับแข็งค่าขึ้น 6.6% จากปี 2018 สำหรับปี 2020 เงินบาทมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าอยู่ต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่น้อยลงจากปี 2019 

ภาพจาก EIC SCB

ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทจะแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยในปี 2020 จะยังเกินดุลสูง

เนื่องจาก 1) มูลค่าการส่งออกและนำเข้าปี 2020 มีแนวโน้มทรงตัวจากปีก่อน 2) ภาคการท่องเที่ยวจะยังขยายตัวแม้ในอัตราที่ชะลอลง 3) การลงทุนในประเทศจะยังซบเซา การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยแม้จะชะลอลงแต่เกินดุลในระดับสูงประมาณ ​6% ต่อ GDP (ปี 2019 อยู่ที่ 6.3%)

ภาพจาก EIC SCB

ความต้องการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศยังต่ำ ทำให้ความต้องการเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีอยู่มาก 

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง เงินทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศที่มาก จะยังทำให้เงินบาทมีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของภูมิภาค (regional safe haven) ต่อไป ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงน้อยกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคในช่วงที่ความเชื่อมั่นลดลง 

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกปรับลดลง เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียรวมทั้งไทย

EIC มองว่า การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนมีความคืบหน้า เป็นปัจจัยที่ลดความเสี่ยงด้านต่ำของภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ ส่วน Brexit ก็ดีขึ้นเช่นกัน หลังพรรค Conservative ชนะ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2020 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับสูงขึ้น และมีเงินทุนไหลกลับเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ 

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบ

EIC มองว่า เวลาเศรษฐกิจโลกปรับแย่ลง จะทำให้มีความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสกุลเงินหลักของโลก มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ลดลง ทำให้ความต้องการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงมา EIC มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะไม่อ่อนค่าลงมากนัก 

ภาพจาก EIC SCB

ข้อจำกัดของแบงก์ชาติ ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีส่วนช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ อ่อนค่าลงได้ 

อย่างไรก็ดี ขีดความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติมีข้อจำกัดมากขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ความสามารถในการดูแลค่าเงินบาทผ่านช่องทางนี้ลดลง 

ไทยเสี่ยงที่อาจถูกจัดเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน ทำให้แบงก์ชาติอาจไม่สามารถดูแลค่าเงินได้มากเท่าในอดีต ดังนั้น โอกาสที่เงินบาทต้องเผชิญแรงกดดันด้านแข็งค่าจึงมีอยู่ต่อไป 

เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าอาจทำให้ค่าเงินในภูมิภาครวมถึงเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตาม

ช่วงสงครามการค้าทวีความรุนแรง เงินหยวนปรับอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก ทำให้สินค้าจีนได้เปรียบการแข่งขันด้านราคาต่อประเทศอื่น ที่ผ่านมา เงินบาทก็ปรับอ่อนค่าตามเงินหยวนในช่วงสงครามการค้าทวีความรุนแรง 

เมื่อสงครามการค้ามีแนวโน้มลดความรุนแรงลง นักลงุทนเชื่อมั่นมากขึ้น เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เงินบาทก็สามารถแข็งค่าขึ้นตามเช่นกัน 

EIC ประเมินว่า การแข็งค่าเงินบาทในปี 2020 จะลดน้อยลงเมื่อเทียบปี 2019 โดยดุลบัญชีการเงินไทย อาจขาดดุลมากขึ้นเล็กน้อย แรงกดดันจากการขายทำกำไรทองคำมีแนวโน้มลดลง แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยและประเทศเศรษฐกิจหลักมีผลกระทบเล็กน้อย 

ที่มา – EIC SCB 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา