ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยตลอดปี 2019 แม้ว่ารัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ และกลไกรัฐราชการที่ต่อเนื่องกัน พยายามปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อยู่ ไม่เข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) แต่ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะ “ชิมช้อปใช้” ที่ผลักดันในวงกว้าง) ก็เป็นตัวสะท้อนมุมมองว่ารัฐบาลเองเห็นปัญหานี้เช่นกัน
เมื่อกลางปีนี้ หนังสือพิมพ์ Financial Times นิยามให้ไทยเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” จากปัญหาเศรษฐกิจหลายประการ ถ้าให้นิยามสภาพการณ์เศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีคงต้องใช้คำว่า “คนป่วยที่โดนภาวะแทรกซ้อน” ตัวโครงสร้างเศรษฐกิจอ่อนแออยู่แล้ว ยังโดนปัจจัยแทรกซ้อนอย่างสงครามการค้าจีน-สหรัฐและปัญหาค่าเงินบาทแข็งมาช่วยรุมกระทืบเข้าไปอีก
ผู้ที่ได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจเหล่านี้มากที่สุด ย่อมเป็นคนที่มีรายได้น้อย-อยู่ในพีระมิดฐานล่างของสังคม กลุ่มพนักงานโรงงาน-พนักงานบริษัทเริ่มเจอปัญหาปลดคน-ปิดกิจการ กลุ่มที่ทำมาค้าขายหรือรับจ้างทั่วไปก็เริ่มขายของฝืดเคือง-รายได้หดหาย ต้องดิ้นรนหมุนเงิน-ประหยัดกันสุดตัวเพื่อให้มีชีวิตต่อไปได้
แม้แต่งานที่ดูว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำอย่างการเก็บขยะขาย ที่ในอดีตเคยมีส่วนช่วยเป็น “safety net” ให้คนบางกลุ่มยังมีโอกาสหารายได้เพิ่มอีกทาง ก็โดนขยะจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดจนทำให้ขยะราคาตก และ safety net ชิ้นนี้กำลังค่อยๆ จางหายไปอีก
ถ้าให้ประเมินในมุมมองระยะยาว ปัญหาเศรษฐกิจไทยปี 2019 เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมายาวนานและไม่เคยถูกแก้ไข ตามที่นักวิชาการใช้คำว่า “กบต้ม” เมื่อเจอกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวน ยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลงกว่าเดิม
ทางออกของเศรษฐกิจไทยในปี 2020 จึงต้องทำ 2 เรื่องคู่ขนานกันไป ทั้งการประคองอาการป่วยในระยะสั้น ให้อยู่รอดได้กันไปก่อน และการปรับปรุงสุขภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเพื่อให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
การแก้ปัญหาระยะสั้น รัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายกว่านี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะเป็นทั้งหมด รัฐควรต้องหามาตรการในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะกลไกทางรัฐสวัสดิการ-การสร้างงานระยะสั้นที่จัดจ้างโดยรัฐ เพื่อประคองให้ฐานพีระมิดของสังคมไทยยังสามารถหาเลี้ยงปากท้อง มีชีวิตอยู่ต่อไปได้
การแก้ปัญหาระยะยาว เศรษฐกิจไทยถูกปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างครั้งสุดท้ายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยช่วงรัฐบาลทักษิณได้นำนโยบาย dual-track สร้างการบริโภคในประเทศขึ้นมาคู่กับเศรษฐกิจที่อิงการส่งออก แต่ช่วงหลังการสร้างเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้รับความสนใจมากนัก (แม้แต่ในรัฐบาลยุคพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทยเองก็ตาม) สาเหตุอาจเป็นเพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มาแย่งความสนใจไปแทน ทำให้เศรษฐกิจไทยก็ยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักเช่นเดิม
รัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอาจดีใจออกนอกหน้าเวลาตัวเลขการส่งออกเติบโตดูดี แต่เมื่อปัญหาเชิงโครงสร้างไม่เคยถูกแก้ไข เศรษฐกิจที่อิงกับการส่งออกของไทยเริ่มล้าสมัย ทั้งจากปัจจัยเรื่องค่าแรง เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน สภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ทำให้ทุนต่างชาติเริ่มย้ายฐานหรือถอนตัว เมื่อบวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งค่าเงินและสงครามการค้า ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ปัญหาการส่งออกเด่นชัดขึ้น
ทางออกในระยะยาวจึงไม่มีทางอื่น นั่นคือกลับไปสร้างเศรษฐกิจจากการบริโภคในประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจส่งออกลง แต่การสร้างการบริโภคในประเทศขึ้นมาใหม่ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบยุคนี้ ยิ่งเป็นงานที่ยากกว่าการตัดสินใจทำในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองมาก
การเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ชีวิตย่อมไม่ง่าย แนวทางการรักษาอาจพอเห็นชัดว่าควรทำอย่างไร แต่ที่น่ากังวลพอๆ กันคือ “คณะแพทย์” ที่ผลงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามือไม่ถึง ไม่ได้ยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และยังมีความแตกแยกในหมู่คณะแพทย์ด้วยกันเอง ยิ่งในยุคที่เป็นรัฐบาล “เซียงกง” เป็นรัฐบาลผสมเกือบยี่สิบพรรค เกิดปัญหา “รัฐอิสระ” ไม่สามารถสั่งการได้อย่างเป็นเอกภาพ ก็ยิ่งทำให้มองไม่เห็นอนาคตว่าจะรักษาคนป่วยได้อย่างไร
เกิดเป็นคนไทยยุคนี้ มีอาการป่วยแบบนี้ เจอคณะแพทย์แบบนี้ ก็ได้แต่ทำใจว่าคณะแพทย์จะคิดได้ เปลี่ยนแนวทางการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือคิดได้ ยอมหลีกทางให้คณะแพทย์ชุดอื่นมาลองรักษาดูแทน ซึ่งก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะรักษาได้ผลมากกว่า แต่ก็ดีกว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย
ในภาวะที่หดหู่แบบนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจนักว่าทำไมคนป่วยบางคนถึงหันไปหายาผีบอก น้ำหมักวิเศษ เพราะมันไม่เห็นอนาคตใดๆ จากการรักษาในปัจจุบันนั่นเอง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา