Travis Kalanick อดีตซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Uber ถูกบอร์ดบีบให้ลาออกจากตำแหน่งในปี 2017 จากปัญหาเรื่องอื้อฉาวใน Uber เพื่อเปลี่ยนตัวซีอีโอมาเป็น Dara Khosrowshahi อดีตซีอีโอ Expedia มาทำหน้าที่แทน
หลัง Kalanick ลงจากตำแหน่งซีอีโอในปี 2017 แล้ว เขายังมีสถานะเป็นบอร์ดของ Uber อยู่ และถือครองหุ้น Uber จำนวนมากอีกด้วย
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Kalanick ประกาศลาออกจากตำแหน่งบอร์ดของ Uber โดยมีผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2019 และทยอยขายหุ้น Uber ออกไปทั้งหมด (ว่ากันว่าได้เงินจากการขายหุ้นไปถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท)
แถลงการณ์ของ Kalanick บอกว่าเขามีชีวิตอยู่กับ Uber มาตลอด 10 ปี หลังจาก Uber สามารถขายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ ก็ถึงเวลาที่เขาจะไปโฟกัสเรื่องอื่น ได้แก่งานด้านการกุศลและธุรกิจใหม่ๆ แทนแล้ว
จุดที่น่าสนใจคือธุรกิจใหม่ของ Kalanick คือเขาเข้าไปลงทุนใน CloudKitchens บริการด้านการครัวสำหรับส่งอาหารแบบเดลิเวอรี
Kalanick ประกาศตั้งกองทุน 10100 Fund เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ช่วงปี 2018 กองทุนของเขาเข้าไปซื้อหุ้นใหญ่ของบริษัท City Storage Systems ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ CloudKitchens ที่ทำเรื่องอสังหาริมทรัพย์เพื่อหาทำเลตั้งครัวกลาง สำหรับทำอาหารเพื่อส่งตามบ้านเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน
แนวคิดเรื่อง Cloud Kitchen หรือ Ghost Kitchen ถูกพูดถึงมาได้สักระยะ และเติบโตตามความนิยมของการส่งอาหารแบบเดลิเวอรีทั่วโลก ไอเดียของมันคือการหาทำเลที่เหมาะสมกับการเดลิเวอรี (เช่น อยู่กลางเมือง ขนส่งสะดวก) ตั้งเป็นครัวกลาง อาจเป็นแบรนด์ของตัวเองเพื่อเดลิเวอรีอย่างเดียว หรือเชิญชวนร้านอาหารแบรนด์ดังๆ มาร่วมทำครัวที่จุดเดียว เพื่อบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งเรื่องของค่าเช่าสถานที่ (ถูกกว่าเพราะไม่ต้องมีหน้าร้าน ขยายสาขาได้ง่ายกว่า) ค่าแรงพนักงาน (ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานเสิร์ฟ มีแต่พนักงานครัว และแชร์พนักงานกันได้) และต้นทุนลอจิสติกส์ (ทำเลใกล้ฐานลูกค้า ค่าส่งถูกกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า)
บริษัทเดลิเวอรีในฝั่งเอเชียอย่าง Grab ก็เริ่มบุกเบิกแนวคิด Cloud Kitchen บ้างแล้วในอินโดนีเซีย หรือในประเทศไทยเองก็เริ่มมีธุรกิจอาหารที่ทำแบบส่งเดลิเวอรีอย่างเดียว และหาทำเลที่ดีในการตั้งครัวกลางแล้วเช่นกัน
บริษัท CloudKitchens เน้นการให้บริการระบบครัว ตั้งแต่การเลือกทำเล การออกแบบพื้นที่ให้เหมาะกับอาหารเดลิเวอรี อุปกรณ์ที่ใช้ภายในครัว ไปจนถึงซอฟต์แวร์จัดการห้องครัว และการเชื่อมต่อเพื่อรับออเดอร์จากธุรกิจส่งอาหารในท้องตลาด (เช่น Postmates, DoorDash, GrubHub รวมถึง Uber Eats)
Kalanick ระบุว่าสนใจนำธุรกิจ CloudKitchens ขยายไปยังประเทศจีน ซึ่งก็ต้องเจอกับการแข่งขันจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ เช่น Panda Selected ที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทขนส่งอย่าง Uber ขยับขยายมาทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเดลิเวอรี น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในธุรกิจนี้ในระยะยาว
ที่มา – Quartz
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา