พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา พูดถึงประเด็นเศรษฐกิจและการปิดตัวของโรงงานต่างๆ รวมทั้งการเลิกจ้างว่า
“ทุกคนต้องช่วยกัน ด้วยความเข้าใจ บังคับไม่ได้อยู่แล้ว อยู่ที่ความสมัครใจของทุกคน หากต้องการมีรายได้ดีขึ้น ก็ต้องปรับเปลี่ยนกันบ้าง ไม่ว่าจะผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องช่วยกันเพราะมันกระเทือนมาถึงปัญหาเศรษฐกิจ ปลดพนักงาน ธุรกิจปิดตัวต่างๆ เหล่านี้”
“มาตรการรองรับเราก็มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่อยากให้เหมารวมว่าเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมด ถ้าเราไปตรวจสอบดู หลายโรงงานสมัครปิดเองเพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว หรือไม่ก็สินค้าพัฒนาไม่ได้ ก็จำเป็นต้องปิด”
“ทีนี้ เราก็มีการเปิดโรงงานใหม่ๆ โรงงานปิดอย่างเดียวก็มีตัวเลขจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็มีมากพอสมควร แต่การเปิดโรงงานก็ขึ้นเป็น 3 เท่า มีการสร้างงานใหม่ 1.7 แสนคน มูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท”
“แรงงานก็หมุนเวียนไปหางานที่โรงงานอื่นได้ จะต้องพัฒนาหรือเปล่า อันนี้ทุกคนก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วย โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น ตัวเลขปิดโรงงานพันกว่า มันก็มีอย่างนี้ทุกปี มากบ้าง น้อยบ้าง หลายโรงงานอย่างที่บอก ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้”
“ตัวเลขการจ้างงานก็มากกว่าคนที่ตกงาน ดังนั้น คนที่ตกงานก็ต้องไปหางานใหม่ อันนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกในปัจจุบัน”
ในส่วนของ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงสถานการณ์ว่า สถานการณ์ปิดกิจการของสถานประกอบกิจการและการเลิกจ้างนั้น เลิกจ้างเพิ่มขึ้นแต่ก็มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วย
โดย อภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ระบุว่า หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ปิดกิจการและการเลิกจ้าง ซึ่งทาง กสร. ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบตัวเลขพบว่า
- ปี 2562 สถานประกอบการเลิกกิจการ 1,107 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 7,703 คน
- ปี 2561 สถานประกอบการเลิกจ้าง 607 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบและยื่นหนังสือร้องเรียน 5,619 คน
- เมื่อเทียบกันแล้วพบว่า ปี 2562 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 67.55% ลูกจ้างได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 37.09%
ทั้งนี้ เมื่อเทียบตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. 2561 พบว่า มีสถานประกอบการปิดกิจการ 296 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,101 คน ส่วน ต.ค.-ธ.ค. 2562 มีสถานประกอบการเลิกกิจการไปแล้ว 365 แห่ง มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2,870 ราย
ในจำนวนนี้ ยังไม่นับรวม 2 กรณีที่เพิ่งมีการเลิกจ้างล่าสุดคือ จังหวัดชลบุรี มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 63 ราย และจังหวัดสมุทรสาคร มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 997 ราย
จากข้อมูลผู้ประกันตนที่เข้าสู่ระบบตามมาตรา 33 ของสำนักงานประกันสังคม และผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า มีผู้ประกันตนเข้าสู่ระบบประกันสังคม จำนวน 71,917 คน และมีผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 27,859 คน
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ประกันตนใหม่ที่เข้าสู่ระบบจะสูงกว่าจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 44,058 คน แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการเลิกจ้าง มีการปิดกิจการ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีการเปิดกิจการและมีการจ้างงานเพิ่มเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เว็บไซต์ BLT เผยตัวเลขสถิติโรงงานยกเลิกกิจการทั่วไทย 10 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า โรงงานเลิกประกอบกิจการ 1,989 แห่ง กระทบแรงงาน 49,157 คน ดังนี้
- เดือนมกราคม 133 แห่ง จำนวนแรงงาน 3,428 คน
- เดือนกุมภาพันธ์ 191 แห่ง จำนวน 6,367 คน
- เดือนมีนาคม 159 แห่ง จำนวน 4,797 คน
- เดือนเมษายน 214 แห่ง จำนวน 5,097 คน
- เดือนพฤษภาคม 144 แห่ง 3,630 คน
- เดือนมิถุนายน 463 แห่ง จำนวน 12,562 คน
- เดือนกรกฎาคม 440 แห่ง จำนวน 7,397 คน
- เดือนสิงหาคม 66 แห่ง จำนวน 1,281 คน
- เดือนกันยายน 94 แห่ง จำนวน 2,530 คน
- เดือนตุลาคม 85 แห่ง จำนวน 2,104 คน
ที่มา ทำเนียบรัฐบาล (1), (2), BLT
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา