เรื่องจริงที่ต้องรู้! ความยากจน ทำเด็กไทยกว่า 2 ล้านคนเสี่ยงหมดโอกาสการศึกษา เศรษฐกิจไทยสูญปีละ 1-3 % ของ GDP 

การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนควรจะมี เพราะการศึกษาสร้างจิตสำนึกการเป็นมนุษย์ สร้างคนมีความรู้ในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ มีความอดทนในการต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิต แต่ประเทศไทยทุกวันนี้กลับมีเด็กอยู่จำนวนไม่น้อยที่แนวโน้มว่าจะขาดโอกาสทางการศึกษา 

ภาพ: Shutterstock

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือกสศ.ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยมากกว่า 2,000,000 คน มีความเสี่ยงต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะ ความยากจน’ พบว่า มีครอบครัวที่ยากจนที่สุดของเด็กมีรายได้ 462 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 15 บาทต่อวันเท่านั้น

ส่วนรายได้เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 2,093 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 69 บาทต่อวัน (ข้อมูลรายได้และสถานะครัวเรือนซึ่งถูกนำมาคำนวณด้วยวิธีการทางสถิติแบบวัดรายได้ทางอ้อม (ProxyMeans-Tests: PMT)

“ยากจน”เสี่ยงขาดโอกาสการศึกษา

ความยากจนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ตอนนี้จำนวนเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษากำลังเพิ่มสูงขึ้นโดยมีมากถึง 430,000 คน (อายุระหว่าง 6-14 ปี/.1-.3) และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

เรื่องจริงที่ต้องรู้ ครอบครัวของเด็กยากจน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า หรือพูดง่ายค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ เด็กจึงต้องลาหยุดเรียนไปช่วยพ่อแม่หารายได้เพิ่ม จนส่งผลกระทบต่อการเรียนอย่างหนัก และหลายคนไม่ได้กลับมาเรียนอีกเลย

ภาพ: Shutterstock

เกือบครึ่งไม่ได้กินอาหารเช้า 

“ยากจน” ยังเป็นปัญหาที่ทำให้เด็กไทยขาดโภชนาการที่ดี หรือการบริโภคให้ครบ 3 มื้อและรับประทานให้ครบ 5 หมู่ พบว่าเด็กนักเรียนไทยยากจนพิเศษ ที่ผอมต่ำกว่าเกณฑ์การเจริญเติบโตกว่า 19,000 คน และยังพบนักเรียนที่มีแนวโน้มเสี่ยงผอมต่ำกว่าเกณฑ์อีกกว่า 33,000 คน 

  • เด็กไทย 44.5 % ที่ไม่ได้ทานอาหารเช้า สาเหตุมาจากฐานะยากจน ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานก่อนมาเรียน
  • โรงเรียนไม่มีงบประมาณเพียงพอ  

ข้อมูลจากนักโภชนาการ ระบุตรงกันว่าการที่เด็กไม่ได้รับประทานอาหารเช้าส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะสมองจะได้รับผลกระทบไวที่สุด เด็กจะเซื่องซึม ไม่มีเรี่ยวแรง เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง แก้ปัญหาไม่ได้ ในขณะที่ครูมองว่าการขาดโภชนาการส่งผลกระทบต่อการเรียน 50.6 % 

10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีนักเรียนยากจนพิเศษผอมต่ำกว่าเกณฑ์การเติบโต

  • นราธิวาส 1,313 คน
  • นครราชสีมา 1,006 คน 
  • ยะลา 781 คน
  • ปัตตานี 692 คน
  • อุบลราชธานี 681 คน
  • บุรีรัมย์ 657 คน
  • ศรีสะเกษ 633 คน 
  • ตาก 518 คน 
  • อุดรธานี 516 คน
  • จังหวัดสุรินทร์ 491 คน

บ้านไกลอุปสรรคต่อการเดินทาง

ความห่างไกลระหว่างโรงเรียนกับบ้าน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กไทยมีความเสี่ยงขาดโอกาสทางการศึกษา รู้ไหมว่า เด็กบางคนเดินเท้าไปกลับโรงเรียนกว่า 20 กิโลเมตร หรือต้องเดินทางข้ามภูเขา ข้ามแม่น้ำ เพื่อไปโรงเรียน ความยากลำบากขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน

เข้าหน้าฝนทีไรหลายคนต้องหยุดเรียน กลายเป็นอุปสรรคและบั่นทอนกำลังใจ ทำให้เด็กต้องหยุดเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนตามพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร

ข้อมูลชมรมนักจัดการศึกษาในเขตพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดาร พบโรงเรียนในพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารส่วนใหญ่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ปัจจุบันมีโรงเรียนในพื้นที่สูงทั้งหมด 1,190 แห่ง และโรงเรียนบนเกาะ 124 แห่ง

เกือบ 2 แสนคน เป็นเด็กกำพร้า 

สังคมในปัจจุบันนี้ต้องหาเช้ากินค่ำ พ่อแม่จำนวนไม่น้อยต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวในต่างถิ่น เด็กส่วนใหญ่อยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ข้อมูลจากระบบ iSEE พบว่า มีนักเรียนยากจนด้อยโอกาส ที่กำพร้า ไม่มีพ่อ หรือแม่ หรือไม่มีทั้งพ่อและแม่อยู่ที่ 34.56 % หรือราว 192,789 คน 

ปัญหานี้ สร้างความกดดันให้เด็ก ทําให้เด็กขาดความรักความอบอุ่น  ไม่มีที่พึ่ง ในขณะที่การรับภาระเลี้ยงดูบุตรเพียงคนเดียว หรือเป็นภาระให้ปู่ย่าตายายที่แก่เฒ่า ยิ่งซ้ำเติมให้ชีวิตยากลำบาก  ท้ายที่สุดเด็กหลายคนต้องออกมาระหกระเหินเร่ร่อนและหลุดออกนอกระบบการศึกษาในที่สุด   

ภาพ: Shutterstock

เรียกไม่ได้เต็มปากว่า”บ้าน” 

คุณครูหลายคนต้องเสียน้ำตาเมื่อเห็นสภาพบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก บ้านบางหลังจะเรียกว่า บ้านก็พูดได้ไม่เต็มปาก เป็นเพียงเพิงผ้าใบหรือป้ายไวนิลโฆษณาเก่าๆ มาขึงกันแดดกันฝนชั่วคราว ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้ หากเด็กๆ จะทำการบ้าน ต้องจุดเทียนหรือไปอาศัยแสงไฟจากถนน เรียกได้ว่าเป็นสภาพบ้านที่ไร้ความปลอดภัย มีผลทางจิตใจของเด็ก การพักผ่อนนอนหลับไม่เต็มอิ่มและไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือ

สูญเสียการศึกษาประเทศสูญเสีย

หากประเทศไทยมีเยาวชนจำนวนมากขาดโอกาสในการศึกษา จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะการศึกษาเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาความยากจนที่แก้ไม่ได้สักที อาชญากรรมและยาเสพติดปัญหา

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า  “การสูญเสียโอกาสทางการศึกษา คือ โอกาสที่สูญเสียไปของประเทศ  อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก Dr.Nicholas Burnettประเมินว่าการสูญเสียโอกาสการศึกษาของเด็กๆ จะสร้างความเสียหายเศรษฐกิจไทยมากกว่าปีละ 1-3 % ของ GDP หากมองในมิตินี้ การลดความเสี่ยงและรักษาเด็กไว้ในระบบการศึกษา จึงไม่เพียงช่วยสร้างโอกาสในอนาคตของเด็กๆ  แต่ยังสร้างผลกระทบทางบวกในการพัฒนาประเทศในภาพรวม

“นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปีนี้อย่าง Professor Abhijit Banerjee และ Professor Esther Duflo  สรุปบทเรียนจากการศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ไว้ใน Foreign Affairs ว่า แนวทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนาประเทศ คือ การลงทุนในการศึกษาและการสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติมโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงและยั่งยืนในอนาคต”

การศึกษาเปลี่ยนสังคม-เศรษฐกิจ

การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนควรจะมี เพราะการศึกษาช่วยเปลี่ยนชีวิตคนเราให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเปลี่ยนสังคม จากการปลูกจิตสำนึกและขัดเกลาภายในโรงเรียน และการศึกษายังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2561 ได้ช่วยเหลือบรรเทาอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้ มากกว่า 7 แสนคน ผ่านโครงการเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาค

แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ จากการประเมินของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) พบว่ากลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของ กสศ. มีมากกว่า 4 ล้านคน จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านงบประมาณมากกว่าปีละ 25,000 ล้านบาทต่อปี

ในปีงบประมาณ 2562 กสศ. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรเพียง 2,537 ล้านบาทหรือเพียง 10% ของงบประมาณที่ควรจะได้รับตามภารกิจเท่านั้น

การคัดกรองเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุน

สำหรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีระบบ isee เป็นเครื่องมือช่วยชี้เป้าความช่วยเหลือ มุ่งไปยังเด็กๆ ที่เดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ลงลึกตั้งแต่ระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล โรงเรียน และข้อมูลปัญหาความต้องการรายบุคคล

  • วิธีการคัดกรอง ประเภทที่ 1ครอบครัวที่รายได้ไม่เกิน 3,000 บาท / คน / เดือน ประเภทที่ 2 ประเมินสถานะความยากจน
  • ครูกว่า 400,000 คน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อบันทึกข้อมูลการคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์
  • กสศ. ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ไม่ว่าจะเป็นการยืนยัน ด้วยพิกัดบ้าน ภาพถ่าย สภาพบ้านพร้อมรูปนักเรียนและสมาชิกในครอบครัว

มอบของขวัญปีใหม่เป็นการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนคนไทยให้โอกาสการศึกษาเป็นของขวัญที่มีค่าต่ออนาคตของชาติ โดยเปิดโครงการ ล้านพลังคนไทยมอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ” เพื่อเด็กๆที่มีความฝัน และมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยม  มีอนาคตดีขึ้น และไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน

เพราะสังคมไทย จะไม่ทิ้งเด็กคนไหนไว้ข้างหลัง มาช่วยกันทำให้ปี 2563 เป็นปีที่ดีขึ้นของเด็กเยาวชน และของสังคมไทย ทั้งนี้ทุกเงินบริจาคยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยทุกท่านสามารถเข้าไปที่   www.eef.or.th/donate  หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์  เลขที่ บช. 172-0-30021-6  ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์