สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญตอนนี้ มี 3 เรื่อง ดังนี้
เด็กไทย 1 ใน 5 เป็นเด็กยากจนหลายมิติ
ข้อมูลจากรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในประเทศไทย ระบุว่า ปี 2558/ 59 ในภาพรวม ประเทศมีสัดส่วนของเด็กที่มีความยากจนหลายมิติ คิดเป็น 21.5% สาเหตุหลักอันดับ 1 คือมิติด้านการศึกษา อันดับ 2 มิติด้านสุขภาพ หากเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่เด็กมีความยากจนหลายมิติมากที่สุด
เด็กในช่วงอายุ 0-4 ปี มีสัดส่วนของเด็กยากจนหลากมิติสูงที่สุด เด็กเพศชายมีค่าดัชนีความยากจนหลายมิติมากกว่าเพศหญิง รวมถึงระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนนั้นสามารถส่งผลต่อความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในครัวเรือนได้ด้วย
โดย Unicef ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ปัญหาความยากจนมีความซับซ้อน พลวัตทางด้านความยากจนมีหลายมิติ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดความยากจนในรูปแบบใหม่ ดังนั้น ความยากจนในหลายมิติในเด็ก หรือ Child Multidimensional Poverty Index (MPI) มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอมุมมองใหม่สำหรับการวัดความยากจน
ข้อมูลที่นำมาคำนวณมีความน่าเชื่อถือ มีการจัดทำอย่างมีรายละเอียด สอดคล้องกับบริบทของประเทศ เป็นการวัดความยากจนที่มีความครอบคลุมมากกว่าการวัดความยากจนในการเชิงการเงินและสามารถนำไปใช้เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเด็ก การจัดสรรงบประมาณเพื่อบรรลุเป้าหมายไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
ความรุนแรงของความยากจนหรือค่าเฉลี่ยความขัดสนที่เด็กต้องเผชิญมีค่าอยู่ที่ 34.7% หมายความว่า โดยเฉลี่ยเด็กที่ยากจนคนหนึ่งจะประสบความขัดสนในระดับที่มากกว่าหนึ่งในสามของตัวชี้วัดที่เป็นไปได้ทั้งหมดแบบถ่วงน้ำหนัก ความยากจนพบมากในเขตชนบท มีเด็กยากจนอยู่ 23% เมื่อเทียบกับเด็กในเขตเมือง 19% ภาคอีสาน 25.6% ภาคเหนือ 23.2%
กาฬสินธุ์มีอัตราความยากจนหลายมิติสูงที่สุด 40.2% แม่ฮ่องสอนมีความรุนแรงของความยากจนสูงที่สุด 40.65% ปัตตานีมีค่าดัชนีความยากจนหลากมิติเด็กสูงสุดที่ 0.141 การวัดความยากจนหลายมิติของไทยประกอบด้วย การศึกษา สวัสดิภาพเด็ก มาตรฐานความเป็นอยู่ และสุขภาพ และยังมีอีกสิบตัวชี้วัดในการประเมิน
การป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์
รายงาน 2018 Digital Intelligence Quotient (DQ) Impact Report สำรวจกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่า เด็กไทยมีความฉลาดทางดิจิทัลต่ำ
60% มีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ ภัยที่พบมากที่สุดคือการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การเข้าถึงสื่อลามก และพูดคุยกับคนแปลกหน้า การติดเกม การถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า ทุกภาคส่วนต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ
รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่
ปัจจุบันแรงงานไทยมีลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 3 แสน – 6 แสนคน โดยเฉพาะคนที่เกิดช่วงปี 2524-2544 เป็นคนที่เติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต
อาชีพที่ว่าจ้างคนรุ่นใหม่ 4 อันดับแรกในประเทศไทยคือ กราฟฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง งานเขียนและแปลภาษา คนที่ทำงานรูปแบบใหม่นี้ ยังไม่มีความตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคตเท่าที่ควร
ที่มา – ทำเนียบรัฐบาล, Unicef
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา