เศรษฐกิจไทยตอนนี้! รายได้และรายจ่ายลดลง เป็นหนี้มากขึ้น การออมลด เปราะบางทางการเงินมากขึ้น

EIC แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ชี้ เศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทยตอนนี้อยู่ในสภาวะซบเซา ทั้งรายได้และการใช้จ่ายลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี สถานะทางการเงินของครัวเรือนเปราะบางมากขึ้น หนี้เพิ่มขึ้น การออมลดลง ความช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทมากขึ้นสำหรับครัวเรือนที่มีความสามารถในการหารายได้อ่อนแอและเปราะบางสูง 

ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย จัดทำด้วยการสำรวจครัวเรือนจำนวนกว่า 4 หมื่นครัวเรือนทุกๆ 2 ปีโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากนั้น EIC นำข้อมูลล่าสุดช่วงครึ่งแรกของปี 2562 วิเคราะห์เทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่ามี 5 ข้อค้นพบสะท้อนภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไทยในปัจจุบัน ดังนี้ 

รายได้เฉลี่ยครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีสวนทาง GDP ที่ยังเติบโต

ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือน ต่อครัวเรือน ลดลง -2.1% จากปี 2560 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีเนื่องจากรายได้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นตลอด

รายได้ครัวเรือนลดลงทั้งในส่วนของลูกจ้างและการประกอบธุรกิจ รายได้จากครัวเรือนจาก 22,237 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 เหลือ 21,879 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ลดลง -1.6% รายได้ลดลงน่าจะมาจาก คนทำงานและจำนวนทำงานต่อชั่วโมงเฉลี่ยต่อคนลดลง 

รวมถึงอัตราค่าจ้างที่ชะลอลง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (ลดการใช้แรงงานตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การเกษียณอายุของประชากร การนำเทคโนโลโยทีทดแทนแรงงาน)

รายได้ครัวเรือนจากกำไรกิจการลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร กิจการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 7,048 บาทต่อครัวเรือน ลดลง  -4.8% ส่วนรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรปี 2562 อยู่ที่ 19,269 ลดลงจาก 18,685 บาท ในปี 2560 ลดลง -3.0% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทขนาดใหญ่

รายได้ครัวเรือนประเภทอื่นๆ ค่อนข้างทรงตัว รายได้ที่มาจากดอกเบี้ยจากการลงทุน ดอกเบี้ยเงินออม เงินโอนจากภาครัฐและผู้อื่น ปี 2562 อยู่ที่ 7,806 บาทไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2560

ภาพจาก Pixabay

การใช้จ่ายเฉลี่ยครัวเรือนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายลง ครึ่งแรกปี 2562 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 21,236 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ลดลง -0.9% จาก 21,437 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 อาจลดลงเพราะกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจรวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ครัวเรือนไทยลดการใช้จ่ายในหลายหมวด โดยเฉพาะรายจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รายจ่ายด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ความบันเทิง การท่องเที่ยว สะท้อนว่าครัวเรือนไทยเลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยในภาวะที่รายได้ไม่เติบโต ขณะที่รายจ่ายด้านการสื่อสารเป็นรายจ่ายประเภทเดียวที่ครัวเรือนไม่เคยมีการลดการใช้จ่ายลงในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ครัวเรือนไทยเป็นหนี้มากขึ้น ภาระหนี้ต่อรายได้แตะระดับสูงสุด 

ครัวเรือนไทยก่อหนี้เพิ่มขึ้น (ครัวเรือนที่มีหนี้ 46.3% ของครัวเรือนทั้งหมด) หนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 353,210 บาทต่อครัวเรือน มาอยู่ที่ 362,373 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 2.6%

สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 96.1% เป็น 97.7% เป็นระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

หนี้บ้าน-บริโภค-การเกษตรเพิ่ม หนี้ธุรกิจลด 

หนี้บ้านเพิ่ม การก่อหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 128,287 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 อยู่ที่ 135,312 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.5% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 36.3% เป็น 37.3%

หนี้เพื่อการบริโภคเพิ่ม (รวมหนี้รถยนต์ด้วย) ซึ่งเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนสูงสุดของครัวเรือน เพิ่มจาก 137,678 บาทต่อครัวเรือนในปี 2560 อยู่ที่ 139,904 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 1.0% สำหรับหนี้เพื่อการบริโภค

การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจการเกษตรยังคงเพิ่มขึ้น จาก 49,273 บาทต่อครัวเรือนปี 2560 มาอยู่ที่ 51,547 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.7% กำไรจากการเกษตรลดลง น่าจะมาจากการก่อหนี้เพื่อประคับประคองธุรกิจ ขณะที่การก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจนอกภาคเกษตรลดลง จาก 30,120 ในปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 29,478 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน ลดลง -2.1% 

แนวโน้มของหนี้แต่ละประเภทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนถูกขับเคลื่อนโดยหนี้เพื่อการบริโภคและหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ไม่ใช่หนี้เพื่อการทำธุรกิจ 

ครัวเรือนไทยเก็บออมลดลงมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น 

อัตราการออมจากสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ครัวเรือนในช่วงครึ่งปีแรก 2562 อยู่ที่ 6.4% เป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 อัตราการออมของครัวเรือนไทยเคยสูงสุดอยู่ที่ 11.0% เมื่อปี 2554 

41.3% ครัวเรือนไทยไม่มีการเก็บออมในช่วงครึ่งแรกปี 2562 และเมื่อพิจารณาแยกเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 59.2% ของครัวเรือนที่มีหนี้ ที่ไม่มีเงินออม

กันชนทางการเงินของครัวเรือนไทยมีน้อย มีความเปราะบางางการเงินมากขึ้นในการเผชิญปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ เช่น การขาดรายได้ การตกงาน ความเสี่ยงดังกล่าวเพิ่มขึ้น ครัวเรือนไทยเกินครึ่งมีสินทรัพย์ทางการเงินครอบคลุมรายจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน 

เงินช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ครัวเรือนรายได้น้อยมีการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่มขึ้นตลอด รายได้ครัวเรือนมีส่วนหนึ่งที่มาจากการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น เงินโอน เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ กลุ่มครัวเรือนที่ได้เงินส่วนนี้มากที่สุดคือกลุ่มรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน (19.9% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) เงินช่วยเหลือของภาครัฐปี 2562 อยู่ที่ 813 บาทต่อเดือน เป็นสัดส่วน 11.6% ต่อรายได้ทั้งหมด 

กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยมีความเปราะบางในหลายมิติ 

ภาระหนี้สูงกว่ารายได้ กลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือนเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 กลุ่มรายได้ (กลุ่มรายได้ 1-3 หมื่น, รายได้ 3-5 หมื่น และมากกว่า 5 หมื่นบาท) 

รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ต่อเดือนสูง กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน มีรายได้เพื่อการชำระหนี้ต่อเดือน (DSR: debt service ratio) เพิ่มจาก 29.5% ในปี 2552 เป็น 40.0%

กันชนทางการเงินมีไม่มาก สินทรัพย์ทางการเงินเทียบกับรายจ่ายต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 เท่า

EIC มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคครัวเรือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะซบเซา สะท้อนจากรายได้และรายจ่ายที่ลดลง สวนทางกับทิศทาง GDP ของประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง ไม่มีการเก็บออม มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่พอรายจ่ายเกิน 3 เดือน มาตรการช่วยเหลือจากรัฐระยะสั้นยังมีความจำเป็นในการประคับระคองการใช้จ่ายและการชำระหนี้โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางมากที่สุด 

ที่มา – Economic Intelligence Center

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์