เปิดโผธุรกิจดาวรุ่ง ดาวร่วง ปีชวด ปัจจัยลบรุมเร้านักธุรกิจ แนะใช้ Big Data นำทาง

ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ดูแล้วไม่สดใสเท่าที่ควร มาดูกันว่า ธุรกิจในประเทศไทยที่เป็นดาวรุ่งและดาวร่วง และนักการตลาดต้องปรับกลยุทธ์การตลาดรับปีชวดให้ไม่ชวดยอดขายได้อย่างไร 

ภาพจาก Shutterstock

อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรลูกค้า บริษัท อิปซอสส์ ประเทศไทย จำกัด เล่าในฐานะบริษัทวิจัยการตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคว่า ธุรกิจในปี 2563 ที่มองว่าเป็นดาวร่วง คือ ภาคการผลิต เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ดี โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน กระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

สำหรับภาคการส่งออกของประเทศไทยข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) รวม 11 เดือน ส่งออกรวม 207,330 ล้านบาท ติดลบ 2.4% สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดการณ์ส่งออกทั้งปี 2562 ติดลบ 1.5% หรืออาจติดลบ 2%

อสังหาฯดาวร่วงต่อเนื่อง

สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นดาวร่วงในปี 2563 คือปัจจัยลบที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2561 ยังคงอยู่และมีปัจจัยลบตัวใหม่เข้ามาเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น การออกมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย(แอลทีวี) ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงสถาบันการเงินเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้อัตราการปฎิเสธสินเชื่อปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่มาตรการแอลทีวี ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคปรับตัวลดลง บวกกับภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาดคอนโดมิเนียม จึงเกิดการแข่งขันรุนแรงในตลาดอสังหาในปี 2562 และจัดต่อเนื่องไปถึงปี 2563 ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศมีการชะลอตัวต่อเนื่องทำให้แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 2563 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2562

ท่องเที่ยวรุ่งดันธุรกิจบริการ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2563 ยังคงสดใส โดยไทยยังคงหนึ่งเป็นเดสติเนชั่นสำคัญของนักท่องเที่ยว ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางเป้าหมายเชิงการตลาดในปี 2563 ไว้อย่างชัดเจน ในการรักษาตำแหน่งประเทศที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลก

การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากเป้าหมายปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 41.8 ล้านคน สร้างรายได้เพิ่มเป็น 2.22ล้านล้านบาท นั่นหมายถึงโอกาสของธุรกิจภาคบริการที่จะเติบโตและเป็นดาวรุ่งอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจสุขภาพความงาม

E-Commerce // ภาพ pixabay.com

ซูเปอร์มาร์เก็ต E-Commerce สดใส

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ยอดขายของค้าปลีกปี 2563 น่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2.7-3.0  % เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่น่าจะขยายตัวประมาณ  3.1 % โดยค้าปลีกที่เจาะกลุ่มลูกค้าฐานรากและกำลังซื้อปานกลางลงล่างอย่างร้านค้าปลีกดั้งเดิมและไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็น Segment ที่คาดว่าจะยังคงเผชิญข้อจำกัดของการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตและ E-Commerce ที่เจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อปานกลางขึ้นบนยังคงมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าค้าปลีกใน Segment อื่นๆ โดย E-Commerce ในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะปิดที่ มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 12%

นิโคโล กาลันเต้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าว่า  คนไทยซื้อสินค้าจากอีคอมเมิร์ซ เพียงแค่ 5% เท่านั้น อีก 95% ยังชอบการซื้อจากหน้าร้านอยู่ และแนวโน้มอีก 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนอีคอมเมิร์ซเพิ่มเป็น 7-8%

เทรนด์ที่ต้องจับตาคือ  E-Commerce is global เป็นการค้าไร้พรมแดนอยู่แล้ว แต่ในปี 2563 จะไม่ใช่แค่ข้ามภูมิภาค แต่จะเป็นการข้ามประเทศ จากผู้ประกอบการมาร์เก็ตเพลส 3 รายใหญ่ อย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี ดอทคอม ที่มีจำนวน 74 ล้านชิ้นปี 2561 และเพิ่มเป็น 174 ล้านชิ้นในปี 2562 หรือสูงเพิ่มขึ้น 2.4 เท่าตัว ในจำนวนนี้มีสินค้าที่มาจากจีน 77% อีก 23 % เป็นผู้ผลิตในประเทศไทย

สังคมผู้สูงอายุกับการใช้งานรถเข็น // ภาพ pixabay.com

สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมาแรง

แนวโน้มประชากรผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยปี 2563 ผู้สูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรไทย หรือราว 12.6 ล้านคน จึงเป็นโอกาสของธุรกิจอาหาร ที่อยู่อาศัย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะเข้าไปทำตลาด เช่น อาหารชะลอความเสื่อมถอยของร่างกาย ไม่มีคลอเลสเตอรอล และไม่มีน้ำตาล

ในด้านแฟชั่นเสื้อผ้าต้องการที่สวมใส่สบาย สเปรย์ปิดผมขาว สมาร์ทวอชเพื่อเตือนช่วงเวลากินยา หรือที่อยู่อาศัย เฟอร์นิเจอร์ถูกออกแบบเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้สูงอายุไม่ต้องการอยู่บ้าน โอกาสของรถอเนกประสงค์เพื่อใช้งานนอกบ้าน รวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรม รวมไปถึงธุรกิจการศึกษาสำหรับผู้สูงวัย

ภาพจาก Shutterstock

นักธุรกิจไทยกังวลปัจจัยลบ

จากการพูดคุยเหล่าบรรดานักธุรกิจไทย ทั้ง”บุญชัย โชควัฒนา”ประธานกรรมการบริษัท บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ทวี ปิยะพัฒนา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป ภายใต้แบรนด์ PFP เป็นต้น มองปัจจัยลบปีหน้าไม่แตกต่างกันมากนัก

  • สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกยังต่อเนื่อง
  • ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มว่าจะแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง จากค่าเงินบาทเปิดเช้านี้​ (13​ ธ.ค.)​ แข็งค่าที่ระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • ปัญหาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)
  • กำลังการซื้อของคนไทยที่ลดลงและปัญหาหนี้ในครัวเรือนที่สูงขึ้น
ภาพจาก Shutterstock
ภาพจาก Shutterstock

การตลาดต้องใช้ Big Data นำทาง

จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เข้าสู่ยุค Accelerated change คือการที่โลก เทคโนโลยี และความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักการตลาดและทุกธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันกับกระแสโลกและต้องใช้ Big Data เพื่อช่วยในการวิเคราะห์

  • ช่วยเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า สามารถรู้ได้ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าอย่างไร ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าว ความต้องการของลูกค้า
  • ช่วยคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต  การใช้ Big Data จะช่วยให้องค์กรจับกระแสและกลายเป็นผู้นำเทรนด์ในอนาคตได้
  • ช่วยแก้ปัญหาและรับมือ องค์กรสามารถคาดการณ์หรือดูแนวโน้มของปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรของตัวเองได้ อันนำไปสู่เรื่องการปรับตัวของธุรกิจ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ขององค์กรด้วย

 สรุป

ไม่ว่าจะกี่ปีเศรษฐกิจจะเผาจริงหรือเผาหลอกก็ตาม นักการตลาดต้อง Big Data ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะเป็นเครื่องมือ เมื่อลงทุนบิ๊กดาต้าแล้ว บริษัทต่างๆ ต้องใช้ Big Data ที่มีมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ภาคการผลิตหรือพัฒนาสินค้า ต้องรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ซึ่งในยุคนี้ไม่ได้แบ่งแค่เพศหรืออายุ แต่ต้องเซ็กเมนต์แยกย่อย ถ้าไม่รู้ว่าความต้องการที่แท้จริง แน่นอนว่าธุรกิจจะสู่ความหายนะ นอกจากนี้มองว่า  Big Data บริษัทต่างๆ ต้องใช้เพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยกลับไม่มีนักวิเคราะห์ดาต้าทำงาน และประเทศไทยยังไม่ได้สู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกฎหมายที่ยังไม่ได้สนับสนุนธุรกิจต่างๆ ก้าวสู่ดิจิทัล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา