โดยปกติในญี่ปุ่นจะใช้การเรียกนามสกุลนำหน้าชื่ออยู่แล้ว แต่ถ้าต้องเขียนเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษเมื่อไร ญี่ปุ่นก็พร้อมจะปรับตัวเพื่อไม่ให้ชาติตะวันตกต้องสับสน ด้วยการเปลี่ยนมาพิมพ์ชื่อก่อนและตามด้วยนามสกุล บางครั้งก็ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมดเพื่อให้รู้ว่าเป็นนามสกุล
ธรรมเนียมที่ปรับตัวตามตะวันตกด้วยการพิมพ์ชื่อ ตามด้วยนามสกุลเป็นอักษรภาษาอังกฤษนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ของยุคเมจิ ในช่วงทศวรรษ 1870 เป็นยุคที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกค่อนข้างมาก ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ปรัชญา การเมือง และกฎหมาย ฯลฯ
แต่จากนี้ไป ไม่มีอีกต่อไปแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ รวมถึงเอกสารทั้งหมดในทางราชการด้วย จากที่เคยเรียกกันว่า Shinzo Abe เมื่อขึ้นวันปีใหม่ในอีกไม่กี่สิบวันที่จะถึงนี้ ชื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะกลายเป็น ABE Shinzo ทั้งในเว็บไซต์และในหน่วยงานราชการก็คาดว่าจะทำแบบเดียวกันทั้งหมดด้วย
ตัวอย่าง จากชื่อนักแสดงญี่ปุ่น Ken Watanabe จะกลายเป็น WATANABE Ken หรือ CEO SoftBank ที่ชื่อ Masayoshi Son ก็จะกลายเป็น SON Masayoshi
ทั้งนี้ สำหรับชาติตะวันตกอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและทำให้เกิดความสับสนได้ แต่ญี่ปุ่นมองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำให้มันกลายเป็นเรื่องปกติ (ซึ่งถูกทำให้ไม่ปกติมานานมากแล้ว)
ไม่มีอีกแล้ว การทำให้สะดวกสบาย เพื่อไม่ให้ชาติตะวันตกสับสน เอเชียได้กลายมาเป็นตัวแสดงสำคัญในเวทีโลก ทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์โลกและยังเป็นมหาอำนาจทางด้านวัฒนธรรมอีกด้วย
ประเด็นนี้ ญี่ปุ่นหยิบยกมาหารือกันตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ของศตวรรษที่ 21 (ปี 2001) แต่ก็ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง แต่เมื่อพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือ LDP ครองเสียงข้างมากในสภา และมี Taro Kono เป็นรัฐมนตรีกลาโหม (ขึ้นรับตำแหน่งเมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมา เดิมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ 2017-2019) เขามีบทบาทสำคัญในการผลักดันครั้งนี้
ในช่วงปี 2000 มีหลายกระทรวงแนะนำให้รัฐบาลญี่ปุ่นกลับมาใช้นามสกุลขึ้นก่อน ตามด้วยชื่อตัวเองแบบที่ทำกันอยู่ภายในประเทศ มีทั้งกระทรวงการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกีฬา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่างมองเห็นว่าการเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมนั้น จะทำให้ทุกคนตระหนักว่าเราต้องเคารพในความแตกต่างหลากหลายในด้านภาษาและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา Toro Kono สมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศได้ประกาศว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะขอให้สื่อต่างประเทศเขียนชื่อคนญี่ปุ่นโดยใช้นามสกุลขึ้นเป็นลำดับแรกก่อน ตามด้วยชื่อ เหมือนกับที่ใช้เขียนกันภายในญี่ปุ่นเอง
Kono ถือว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองค่อนข้างมาก และยังมีประสบการณ์ด้านต่างประเทศด้วย จึงกลายเป็นบุคคลที่น่าสนใจมากขึ้น ในเอเชียตะวันออก ทั้งจีน เกาหลีใต้ ล้วนใช้นามสกุลขึ้นต้นก่อน และใช้ชื่อตามหลัง เพื่อแสดงถึงความสำคัญของข้อมูลในตัวบุคคลนั้นๆ แล้วจึงตามด้วยชื่อซึ่งเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ส่วนบุคคลที่ให้ความสำคัญรองลงมา
นับเป็นเวลากว่า 150 ปีแล้วที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ภายใต้วลีเด็ด “datsu-a, nyu-o” ซึ่งหมายความว่า ให้ละทิ้งเอเชีย และไปเข้าร่วมกับยุโรปเสีย ซึ่งเป็นคำของนักเขียนชื่อ Yukichi Fukuzawa ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของความเป็นตะวันตก ทั้งในด้านวัฒนธรรมและเทคโนโลยี ทางเดียวที่ญี่ปุ่นจะเอาตัวรอดได้ในยุคนั้นคือ ไปร่วมมือกับพวกเขาเสียเถอะ
แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นมีความปรารถนาใหม่ ต้องการละทิ้งสิ่งที่เคยทำมาก่อน “datsu-o, nyu-a” ในยุคนี้น่าจะหมายถึง ละทิ้งยุโรปเสียและไปร่วมกับเอเชียดีกว่า? ปัจจุบันประเทศในเอเชียพัฒนาเทคโนโลยีได้ดีและไปได้ไกลมาก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก คือจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
แน่นอนว่าภาษาก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง การเปลี่ยนแปลงด้านภาษาก็เป็นการแสดงนัยยะทางการเมืองอีกอย่างหนึ่ง
ที่มา – Nikkei Asian Review (1), (2)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา