กัมพูชาเปิดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษใกล้ชายแดนไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หวังให้เป็นแหล่งดึงดูดการผลิตแห่งใหม่ของอาเซียน พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต ระยะทางยาวราว 8 กิโลเมตรจากชายแดน สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงที่นี่ได้ภายใน 4 ชั่วโมง เส้นทางดังกล่าวยังเชื่อมไปยังทางใต้ของโฮจิมินห์ เวียดนามด้วย
ทั้งนี้ บริษัท Sumitomo Corp ของญี่ปุ่นได้ไปตั้งโรงงานใหม่ที่นั่นแล้วเรียบร้อย Hiroshi Uematsu ซึ่งเป็น CEO ประจำอยู่เขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปตนี้กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาต้นทุนต่ำกว่าแรงงานไทยครึ่งหนึ่งและยังได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีด้วย กัมพูชาก็ถือเป็นทางเลือกด้านแรงงานที่น่าสนใจ
รายงานจาก The Phnom Penh Post ระบุว่า กัมพูชาเพิ่งเปิดให้จังหวัดบันเตียเมียนเจยซึ่งตั้งอยู่ในปอยเปตให้เป็นฮับทางด้านอุตสาหกรรมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กลายเป็นแหล่งลงทุนจากต่างประเทศแห่งใหม่
เอกอัครราชทูต Masahiro Mikami ที่ได้ไปร่วมงานดังกล่าว เผยว่า เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาต่อไปได้อีก และยังเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ด้วย (ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยประมาณ 250 กิโลเมตร)
ทั้งยังเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่นได้ดี “ผมเชื่อว่า พื้นที่อุตสาหกรรมที่เปิดใหม่บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปตนี้จะเป็นพื้นที่การลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยพลัสวันได้ดีทีเดียว (Thai Plus One strategy)”
ปัจจุบัน ปอยเปตเป็นที่ตั้งโรงงานราว 17 แห่ง สร้างงานกว่า 7,500 ราย ครึ่งหนึ่งเป็นโรงงานที่มาจากญี่ปุ่นที่จ้างงานไปแล้ว 2,000 ราย
บทความจาก Keiichiro Oizumi นักวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐกิจ วิเคราะห์ถึงศักยภาพโมเดล “Thailand-Plus-One” ว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่แตกออกมาจากเอเชียตะวันออก
โดยหลักแล้วโมเดลธุรกิจนี้เป็นกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจในไทยเพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานจากเขตเศรษฐกิจพิเศษในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย
บทความ Keiichiro เขียนวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 2013 แล้ว แต่เขียนได้ดีและยังเป็นสถานการณ์ร่วมสมัย เขาบอกว่า ปัจจัยที่จะทำให้ “Thailand-Plus-One” สำเร็จได้และกลายเป็นความจริงได้ต้องอาศัยหลายปัจจัย
เช่น ปัจจัยแรก ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในไทยและแรงงานที่ขาดแคลนในไทยจะดึงดูดให้แรงงานต่างชาติใน CLM น่าสนใจมากขึ้น ปัจจัยที่สอง พัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ CLM คือกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมาที่เอื้อให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศได้ดีขึ้นก็จะพลิกประเทศเหล่านี้ให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเพื่อส่งเสริมให้การขนส่งและคมนาคมระหว่างประเทศดีขึ้นก็เป็นตัวดึงดูดเช่นกัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการให้เงินทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่นด้วย
เส้นปอยเปตที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชานี้จะเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจทางตอนใต้ของไทยที่สามารถเชื่อมไปยังโฮจิมินห์ เวียดนามได้ด้วย ล่าสุด ญี่ปุ่นยังให้ทุนช่วยเหลือการขยายระบบน้ำประปาในจังหวัดโพธิสัตว์ (Pursat) กัมพูชามากถึง 2.4 พันล้านเยน หรือประมาณ 670 ล้านบาท
ที่มา – Asia Nikkei Review, The Phnom Penh Post, RIM Pacific Business and Industries Vol. XIII, 2013 No. 50, Cambodian Corner, Ministry of Foreign Affairs & International Cooperation, Kingdom of Cambodia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา