dtac เสนอ กสทช. นำคลื่นความถี่ 3500MHz มาร่วมประมูล ระบุ 5G ทั่วโลกใช้คลื่นนี้เป็นหลัก

กสทช.​ เตรียมประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G ที่จะจัดประมาณเดือน ก.พ. 63 ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz

ดีแทค จึงได้ทำการศึกษาและเสนอ 3 แนวทางที่ กสทช.​ควรพิจารณาปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ เพื่อเน้นสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากที่สุด สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน และเกิด 5G ที่มีคุณภาพ

มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บอกว่า ดีแทคสนับสนุนการประมูลคลื่นแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน (Multiband auction) แต่เสนอให้ปรับช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อนำคลื่น 3500 MHz มาร่วมประมูล ผู้ประกอบการจะสามารถนำมาวางแผนเพื่อประโยชน์ในการให้บริการได้สูงสุด และเพื่อพัฒนาการสื่อสารไทยเข้าสู่ 5G สำหรับประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง มีดังนี้

การจัดสรรคลื่นความถี่ 3500 MHz เพื่อนำออกประมูล

กสทช.​ ควรเลื่อนเวลาการประมูลออกไปเล็กน้อย อาจจะ 2-3 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่ 3500 MHz เข้ามาร่วมประมูลด้วย หรืออย่างน้อยที่สุด ให้มีความชัดเจนในหลักเกณฑ์และเวลาที่จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz ซึ่งปัจจุบัน ไทยคม มีการใช้งานอยู่ และจะหมดสัญญสัมปทานประมาณกลางปี 2021 (2564) ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าประมูลได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในเชิงเทคโนโลยีจากการประมูล 5G

ในทางเทคนิค คลื่นความถี่ย่าน 2600 และ 3500 MHz มีคุณสมบัติที่ทดแทนกันได้ และในหลักปฏิบัติสากล จะมีการนำคลื่นย่านความถี่กลาง (Mid-band) ทั้งสองย่านดังกล่าวมาจัดสรรพร้อมกัน เพื่อป้องกันในกรณีที่เผชิญความขาดแคลนของจำนวนคลื่น ดังนั้น คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz จึงเป็นตัวแปรสำคัญของผู้เข้าประมูลในการพิจารณา เพื่อนำไปพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีสำหรับ 5G ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ คลื่นความถี่ 3500 MHz ถือเป็นคลื่นความถี่หลักที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เพื่อทดสอบ 5G และมีแนวโน้มชัดเจนว่าจะเป็นคลื่นหลัก ขณะที่ 2600 MHz มีการใช้งานเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ อเมริกา และจีน

มีเพียง Sprint ของอเมริกา และ China Mobile ของจีนเท่านั้น ที่ใช้คลื่นความถี่ 2600

นอกจากนี้ ในการกำหนดเพดานการถือครองจำนวนคลื่น 2600 MHz ที่มีปริมาณคลื่นความถี่ 190 MHz ดีแทค เห็นว่าควรมีการกำหนดเพดานในการถือครองเพื่อป้องกันการบิดเบือนของตลาดและกระจายการถือครองของผู้ให้บริการ เช่น เพดานการถือครองที่ 60 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย, 80 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย และ 100 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย

นั่นคือ ควรมีการกำหนดเพดานการถือครองจำนวนคลื่น ตามจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล

นอกจากนี้ ต้องให้ความชัดเจนในการจัดการการรบกวนของคลื่นความถี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่น 2600 MHz ที่มีการใช้งานอยู่ 20 MHz ในด้านความมั่นคง ดังนั้น กสทช. จึงควรให้ความชัดเจนถึงแนวทางในการจัดการถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรบกวนกันของคลื่นความถี่และข้อกำหนดในการใช้งาน เพื่อให้ผู้เข้าประมาณสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมในการลงทุน

การกำหนดราคาคลื่นความถี่

การกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป จากร่างประกาศการประมูล กำหนดให้คลื่น 2600 MHz มีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต (10 MHz) ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าค่ากลางของสากล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย

ขณะที่คลื่น 1800 MHz ซึ่งมีราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 12,486 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต มีราคาสูงกว่าราคาสุดท้ายในการประมูลของประเทศอื่นๆ หลายเท่าตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการประมูลได้ โดยข้อมูลจากสมาคมจีเอสเอ็ม ระบุว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2563 มีราคาสูงกว่าตลาดโลกอย่างมาก

วิธีการประมูลและหลักเกณฑ์

จากร่างประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ซึ่งเป็นการกำหนดตามคุณลักษณะทางเทคนิคของคลื่น 2600 MHz ดังนั้น วิธีการประมูลจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่นย่านอื่น

นอกจากนี้ ดีแทคสนับสนุนให้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ร่วมประมูลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกณฑ์ในการวางหลักประกันทางการเงินจากผู้เข้าประมูลทุกราย ซึ่งตามร่างฯ​ กำหดนไว้ 10% ซึ่งถือว่าต่ำเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้เข้าร่วมประมูลที่ตั้งใจจริง และป้องกันการทิ้งใบอนุญาตแบบที่ผ่านมา ทำให้ประเทศชาติเสียหายและเสียโอกาส

5G จะเกิดต้องมองรอบด้านอย่างยั่งยืน

การทำให้ 5G เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงบทบาทของผู้ประกอบการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรกำกับดูแลและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากครอบครองคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี 5G โดยการใช้งานจริง (use case) ยังต้องได้รับการพัฒนาและคำนึงถึงโมเดลในการหารายได้ที่ยังคงไม่มีความชัดเจน ภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในเชิงกลยุทธ์ที่จะกระตุ้นการลงทุนเชิงโครงสร้าง ความร่วมมือจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสู่เทคโนโลยี 5G

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา