“รีไซเคิล” ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคของเพลโตเมื่อ 400 ปี ก่อนคริสตกาล แต่เมื่อถึงเวลาการปฏิบัติจริง คนไทยกลับยังไม่เข้าใจ นั่นคือที่มาของโครงการวน แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างสร้างสรรค์
กมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการวน (Won) เล่าว่า โครงการวนเกิดขึ้นมา เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ บนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งโครงการดังกล่าวเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดงานของเสียวัตถุดิบและพลังงานให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนได้
เป้าหมายของโครงการวนต้องการให้พลาสติกที่เราใช้กันอยู่ทุกวันกลับมาหมุนเวียนอยู่ในระบบให้นานที่สุด
โจทย์ของทุกวันนี้ เราจะใช้ถุงพลาสติกอย่างไรไม่ให้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้ นั่นคือการนำมารีไซเคิล (Recycle) แต่ปัญหาที่กำลังเผชิญในตอนนี้ คือ การสร้างการรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับการแยกขยะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ขยะอันตราย (ถังสีแดง) ขยะจากเศษอาหาร (ถังสีเขียว) ให้ได้ก่อน
การแบ่งแยกขยะของคนไทยยังมีน้อยมาก อันดับแรกจึงต้องสร้างพฤติกรรมการแยกขยะก่อน ควบคู่กับการสร้างความรู้ถุงพลาสติกสามารถนำกลับมารีไซเคิลแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ วิธีของโครงการวน เริ่มจากการสร้างแรงจูงใจแลกถุงหรือเศษพลาสติกที่ส่งมารีไซเคิลจำนวน 1 กก. = เงิน 5 บาท จะนำไปบริจาคให้แก่มูลนิธิต่างๆด้านสิ่งแวดล้อม
ในยุโรปตอนนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช้ถุงพลาสติกถึง 80-90% แต่ในประเทศไทยธุรกิจต่างๆ เพิ่งงดให้ถุงพลาสติกราว 30% ตอนนี้คนไทยตื่นตัวค่อนข้างมากเกี่ยวกับปัญหาขยะจากถุงพลาสติก โดยเฉพาะถุงหิ้วหรือถุงใส่ของ แต่เราต้องทำให้ลงลึกไปมากกว่านั้น เช่น ถุงร้อนสำหรับใส่อาหาร เช่น แกงต่างๆ ที่ขายตามตลาดทั่วไป ซึ่งมีจำนวนมหาศาล
ตอนนี้ถุงพลาสติกที่นำมารีไซเคิล ยังมีจำนวนที่น้อยมากไม่ถึง 5% ของยอดขายบริษัท แต่ในปี 2563 ตั้งเป้าหมายจำนวนถุงพลาสติกที่นำมารีไซเคิลเพิ่มเป็น 10-15% ของยอดขาย ถามว่าโครงการวนประสบความสำเร็จไหม นับตั้งแต่เปิดดำเนินการมา 1ปีกับ 5 เดือน จากการจัดเก็บถุงพลาสติกที่นำมารีไซเคิลในเขตประเวศและปทุมวัน ปริมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน
ปัจจุบันโครงการวน ได้ร่วมกับเขตกรุงเทพมหานครและสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครฯ ตั้งจุดรับพลาสติกเข้าโครงการตามสำนักงานเขตต่างๆในกทม. เบื้องต้นมีทั้งหมด 53 จุด สามารถรวบรวมมาส่งได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ 50 เขตทั่วกทม. อาทิ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 1 (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 วัน
กมล เล่าว่า ธุรกิจของเราเกิดขึ้นจากการทำถุงพลาสติก ชื่อเดิมบริษัท คือ อุตสาหกรรมถุงพลาสติคไทย จำกัด โดยการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะครอบครัวบริสุทธนะกุล มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตถุงพลาสติก และรีไซเคิล แต่เมื่อเทรนด์การใช้ถุงพลาสติกลดลง ผมเองได้ไปศึกษาที่อเมริกาเป็นครอสระยะสั้น เกี่ยวกับการดิสรัปชั่นของธุรกิจ เพื่อรองรับกับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สร้างนวัตกรรมยืดระยะเวลาใช้งาน
นวัตกรรมที่ทางทีพีบีไอคิดค้น ถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษ ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล อย่างการผลิตถุงพลาสติกให้กับบริษัทฟู้ดแพชชั่น มีความหนาถึง 5 เท่า ในบริการจัดส่งอาหารทุกออร์เดอร์ เพื่อให้ผู้บริโภคนำถุงพลาสติกกลับมาใช้หมุนเวียนได้ใหม่ ซึ่งเป็นการใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทำไมต้องทำความหนาของถุงพลาสติก เพราะเราต้องการลดขยะ Single-use plastics หรือถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ความหนาของถุงจะทำให้คุณสมบัติของถุงมีความคงทน และเกิดการใช้งานนานขึ้นหรือสามารถนำมาใช้งานได้มากกว่าหนึ่งครั้งแน่นอน เป็นการช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกลดลง
สรุป
พฤติกรรมของคนไทยในตอนนี้ ตื่นตัวกับการลดใช้ถุงพลาสติกลง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มสร้างพฤติกรรมการแยกขยะ รวมถึงมุมการรีไซเคิลที่คนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญ อย่างถุงพลาสติกก็สามารถนำมารีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกันบริษัททีพีบีไอ ก็พัฒนาถุงพลาสติกที่มีความคงทน ทำให้การใช้งานได้หลายครั้ง เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลง ที่สำคัญยังเป็นถุงพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลอีกด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา