ทำไม Nike ถึงบอกเลิกกับ Amazon
เรื่องมีอยู่ว่า ในปี 2017 Nike ต้องการแก้ปัญหาสินค้าปลอมให้กับลูกค้า จึงนำเอาสินค้าไปผูกกับบริการ Amazon Retail ทำให้ลูกค้าเมื่อต้องการสินค้าของ Nike สามารถสั่งผ่าน Amazon ได้โดยตรง
แต่ล่าสุด Nike มองว่ากลยุทธ์แบบนี้ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไปแล้ว เพราะเอาเข้าจริงการขายสินค้าโดยตรงให้กับลูกค้าในยุคนี้ Nike สามารถคุมได้เองแล้ว ไม่ต้องไปพึ่งคนอื่น/คนกลางแต่อย่างใด
วิธีการแบบนี้เรียกว่าเป็น DTC หรือ Direct to Consumer ที่แบรนด์ในโลกยุคใหม่จะทำการตลาดโดยตรงกับผู้บริโภค ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หนึ่งตัวอย่างที่โดดเด่นคือแบรนด์รองเท้าขนแกะ Allbirds
การบอกเลิกของ Nike กับ Amazon ในครั้งนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร
ถ้าติดตาม Nike มาสักพักจะเห็นความเคลื่อนไหวไปในทำนองนี้อยู่แล้ว ปัญหาใหญ่สุดของ Nike บนแพลตฟอร์ม Amazon คือการไม่สามารถควบคุม Marketplace อย่าง Amazon ได้ ต้องทำตามกฎของเจ้าของแพลตฟอร์ม
นอกจากนั้น ล่าสุด Nike ก็เพิ่งจ้างอดีตซีอีโอ eBay เข้ามาทำงานในบริษัท ความน่าสนใจของ Nike หลังจากนี้คือ กลยุทธ์ออนไลน์ของ Nike น่าจะดีขึ้นโดนที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่นมากนัก เพราะทั้งแยกออกมาทำเอง ไม่พึ่ง Amazon และมีผู้บริหารที่เชี่ยวชาญมาร่วมทีมด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Nike จะยกเลิกการขายสินค้าโดยตรงกับ Amazon แต่ความสัมพันธ์ยังราบรื่นอยู่ เพราะ Nike บอกว่าจะยังใช้ Amazon Cloud (AWS) สำหรับบริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของแบรนด์ต่อไป
ถึงที่สุดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรเข้าใจผิดคือ แม้ Nike จะยกเลิกการขายสินค้าโดยตรงกับ Amazon ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีสินค้าของ Nike อยู่บนแพลตฟอร์ม Amazon แต่อย่างใด เพราะจะมีคนเข้าไปขายอยู่แล้ว
นักวิเคราะห์มองว่า การจะบอกเลิกกับ Amazon แล้วไม่กระทบยอดขายของตัวเอง ต้องเป็นเบอร์ใหญ่แบบ Nike เท่านั้น ถ้าลองเป็นรายเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียง การบอกเลิกกับ Amazon คงจะส่งผลร้ายต่อแบรนด์อย่างแน่นอน
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา