โดย ปฐม อินทโรดม
วันที่โรงงานปิดกิจการ สิ่งที่เราเห็นจนชินตามาหลายสิบปีคือดราม่าความเดือดร้อนของคนงานที่มีภาระมากมายจึงต้องการเรียกร้องเงินชดเชยเพิ่มเติม แล้วค่อยหางานใหม่ ทำไปจนโรงงานปิดอีกครั้งก็วนเวียนร้องเรียนใหม่เป็นวัฏจักร
ประชากรในบางประเทศกล้าที่จะก้าวออกจากวัฏจักรนี้เพราะเชื่อมั่นในความรู้ของตัวเองที่สะสมมานานว่าโรงงานหาวัตถุดิบจากไหน รู้ว่าช่องทางจำหน่ายเป็นอย่างไร กระบวนการผลิตก็อาศัยคนทั้งโรงงานช่วยกันทำ สุดท้ายก็ขอซื้อโรงงานนี้ต่อจากเจ้าของเดิมแล้วทำงานต่อ
ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นเหมือนนิทานโลกสวยที่หาอ่านได้จากหนังสือแรงบันดาลใจทั่วไป แต่เป็นเรื่องจริงที่ผมได้มีโอกาสฟังจากปาก ดร. สแตน ชีห์ ผู้ก่อตั้งเอเซอร์คอมพิวเตอร์ที่เคยเป็นวิศวกรในโรงงานคอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกัน ก่อนจะปั้นแบรนด์เอเซอร์จนประสบความสำเร็จระดับโลกจนถึงทุกวันนี้
สแตน ชีห์เป็นหนึ่งในตัวอย่างนับร้อยนับพันของชาวไต้หวันรวมถึงชาวจีนที่อาศัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผลักดันให้กลายเป็นโอกาสของตัวเอง ในขณะที่คนส่วนมากมองการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นวิกฤติที่ต้องหาทางเอาตัวรอด จึงกลายเป็นการปล่อยให้โอกาสผ่านไปเหมือนที่เราประสบมาโดยตลอด
จากยุคที่เราอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมจึงแข่งขันกันเปิดโรงงานมาถึงยุคดิจิทัลที่เราก็ประกาศความพร้อมในการเป็น Digital Thailand แต่ทัศนคติในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเราไม่เคยเปลี่ยน!
สถาบัน IMD จัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลในปี 2019 ให้เราอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 63 ประเทศทั่วโลก โดยอันดับด้านทัศนคติการปรับตัวหรือ Adaptive Attitude ย่ำแย่เป็นพิเศษด้วยอันดับที่ 58
ผลจากทัศนคติที่เป็นลบต่อโลกยุคดิจิทัลกำลังสะท้อนให้เราเห็นผ่านความหวาดกลัวต่อการรุกคืบของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลในบ้านเรา โดยเฉพาะกับเขตปลอดอากรในพื้นที่ EEC ที่คนไทยหวั่นเกรงกันว่าจะกระทบกับภาคธุรกิจ
ก่อนจะหวาดวิตก เราคงต้องดูกันก่อนว่าภูมิทัศน์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซบ้านเราเป็นอย่างไร จริงอยู่ว่าแม้เราจะคุ้นเคยกับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada, Shopee, JD Central ฯลฯ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในหมวด e-Marketplace หรือเว็บอย่าง ThailandBEST ในเครือสหพัฒน์, Lotus, Tops ฯลฯ ที่เป็น e-Tailer แต่สัดส่วนอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในบ้านเรากลับเป็นกลุ่ม Social Commerce ซึ่งก็คือพ่อค้าแม่ขายออนไลน์ที่ขายของผ่านเฟซบุ้ค อินสตาแกรม และไลน์ ซึ่งน่าจะมีสัดส่วนสูงถึงราวๆ 40%
อาชีพยอดฮิตของเด็กยุคใหม่ในทุกวันนี้จึงหนีไม่พ้นการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แนะนำสินค้า เป็นยูทูบเบอร์ ไปจนถึงขายของออนไลน์ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ รวยเร็ว และรวยง่ายเพราะเราสามารถบินไปหาซื้อของดีราคาถูกจากจีนมาขายต่อให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ติดตามเราอยู่
การขายของออนไลน์แบบนี้ถูกจริตเด็กไทยมากเพราะสามารถใช้สกิลสมัยใหม่อย่างการรีวิว การไลฟ์แนะนำสินค้า การบูสต์โพส การทำทาร์เก็ตแอด ฯลฯ การทำยอดขายหลักแสนไปจนถึงหลักล้านจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กยุคใหม่
ทั้งหมดนี้เป็นดูเหมือนเป็นการปรับตัวเองเข้าสู่โลกดิจิทัลได้สำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจผิด ไม่ต่างอะไรกับในอดีตที่เราเปิดโรงงานแล้วคิดว่าเราเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้แล้ว ซึ่งการสร้างโรงงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้นไม่ต่างอะไรกับการค้าขายออนไลน์ทุกวันนี้ แต่ตัวบ่งชี้ว่าเราทำได้สำเร็จจริงหรือไม่อยู่ที่กระบวนการหลังจากนั้นต่างหากนั่นคือเมื่อโรงงานปิดตัวลง เราสามารถยืนได้ด้วยโรงงานแบรนด์ของตัวเองหรือไม่ หรือเมื่อมาถึงยุคดิจิทัลก็ต้องวัดกันที่ “ข้อมูล” ที่เรามีจะสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของเราได้หรือไม่
หากเราทำเป็นแต่การซื้อมาขายไป แต่ไม่เคยสนใจเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ไม่เคยสร้างฐานข้อมูลลูกค้าเป้าหมาย มองไม่เห็นว่าจะขยายการตลาดไปที่กลุ่มลูกค้ากลุ่มใดได้เพราะไม่มีข้อมูล รวมไปถึงไม่คิดพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง ได้อะไรมาก็ขายไปแทนที่จะเอาข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์คุยกับโรงงานเพื่อผลิตสินค้าที่ตรงกับใจลูกค้า สร้างจุดแตกต่าง ไปจนถึงแปะแบรนด์ของเราเข้าไปเพื่อหวังทำการตลาดระยะยาว
หากยังทำตลาดแบบเดิม ไม่จำเป็นต้องรอ ECC ที่กำลังจะมีศูนย์กระจายสินค้าและเขตปลอดอากร ผมเชื่อว่าแค่แข่งกับเว็บอีคอมเมิร์ซจีนที่ขายตรงมาถึงบ้านเราด้วยธุรกิจ Cross-border ก็ไม่น่าจะรอดไปได้เกิน 2 ปี
เพราะเว็บเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีสินค้าและคำอธิบายเป็นภาษาไทย รับเงินบาท แต่ของส่งตรงมาจากจีนถึงประตูบ้านลูกค้าเร็วมากเพราะกระบวนการจัดการแบบมืออาชีพ คนทำ Social Commerce ย่อมถูกบายพาสได้ง่ายๆ สักวันหนึ่ง
คนอยู่รอดคือคนที่รู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตัวเอง ไม่หยุดอยู่แค่การซื้อมาขายไป แต่สร้างแบรนด์ของตัวเอง สร้าง Touch Point ให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์กับสินค้าของตัวเองก่อนไปสั่งซื้อแบบออนไลน์ รวมถึงเล่นกับข้อมูลเป็น ใช้ประโยชน์จาก Data Analytics ได้เต็มพิกัด แบบนี้มาอีก 10 EEC เขาก็ไม่กลัวครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา