การท่องเที่ยวทางเรือถือเป็นอีกความฝันของหลายๆ คน เพราะในอดีตกว่าจะไปเที่ยวชิลๆ แบบนี้ได้ อาจต้องมีเรือยอร์ชส่วนตัว หรือไม่ก็ต้องจ่ายค่าทริปที่สูงกว่า 5,000 บาท แต่ตอนนี้ความฝันนั้นเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น เพราะราคาเริ่มต้นแค่ 2,000 บาท แล้วทิศทางการท่องเที่ยวทางเรือจะเป็นอย่างไร รวมถึงโอกาสการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมากแค่ไหน
ไทย – เทศมุ่งจัดทริปล่องเรือยกระดับชีวิต
ธีระชัย พิพิธศุภผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้ให้บริการท่าจอดเรือยอร์ชโอเชี่ยน มารีน่า ยอร์ช คลับ เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้กระแสการท่องเที่ยวทางเรือบูมมากในประเทศไทย เพราะทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติต่างอยากเห็นความงดงามของทะเลไทย รวมถึงมุมมองจากทะเลสู่ฝั่งที่ไม่ค่อยได้เคยเห็นกัน ประกอบกับต้นทุนการให้บริการเรือที่ถูกลงเยอะมาก ทำให้นักท่องเที่ยวทุกคนเริ่มมีการท่องเที่ยวทางเรือเป็นอีกเป้าหมาย นอกจากนี้ฝั่งทะเลอ่าวไทยก็มีบริการท่องเที่ยวแบบนี้มากขึ้น จึงไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อไปล่องเรือฝั่งอันดามัน
“เราทำธุรกิจที่จอดเรือมานาน 23 ปี และตอนนี้ก็มีที่จอดกว่า 400 ลำ และเต็มเกือบ 80% โดยตลอด เพราะ 1 – 2 ปีนี้มีเรือยอร์ชทั้งแบบมีเครื่อง และแบบเรือใบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลแรกมาจากคนไทยประสบความสำเร็จในชีวิต และซื้อเรือยอร์ชราคา 30 – 40 ล้านบาทเป็นของขวัญให้ตัวเองมากขึ้น และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เมื่อราคาเรือยอร์ชไม่ได้แพงขนาดนั้น ก็เริ่มมีผู้เห็นช่องทางธุรกิจในการลงทุนเรือยอร์ชเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ และเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นไทยที่อยากใช้ชีวิตหรูบนเรือ, กลุ่มคนจากจังหวัดที่ไม่ติดทะเล รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการสัมผัสทะเลในในอีกมุมมอง”
ยอร์ช 1,200 ลำจากต่างชาติสร้างเศรษฐกิจ
ปัจจุบันราคาท่องเที่ยวทางเรือแบบ One-Day Trip จะอยู่ราว 2,000 บาท โดยสามารถไปเที่ยวยังเกาะต่างๆ และมีอาหาร รวมถึงกิจกรรมดำน้ำ แต่ในราคานี้จะต้องไปร่วมเรือกับคนอื่น หรือ Yacht Charter ซึ่ง 1 ทริปจะจุคนได้ราว 10 – 12 คน ส่วนถ้าต้องการล่องเรือแบบส่วนตัวจะมีราคาเหมาลำ 25,000 – 30,000 บาท โดยแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ราว 500 – 800 คน/วัน นอกจากนี้หากต้องการไปเที่ยวแบบข้ามคืน เช่น 2 วัน 1 คืน จะต้องเช่าเหมาลำราคาราว 50,000 – 60,000 บาท และจุคนได้ราว 4 – 6 คน และจุดนี้ก็ช่วงสร้างเศรษฐกิจในน่านน้ำ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
เนื่องจากปกติ 1 ปีจะมีเรือยอร์ชจากต่างประเทศเข้ามาราว 1,200 ลำ โดยจะเข้ามาเทียบท่าในฝั่งอันดามันกว่า 1,100 ลำ ส่วนที่เหลือจะเข้ามาจอดที่เกาสมุย, เกาะช้าง และพัทยา เกือบทั้งหมดจะเป็นนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง เพราะเดินทางใกล้กว่าจากฝั่งยุโรป และอีกเหตุผลที่เขาเลือกจอดฝั่งอันดามันมากกว่าก็มาจากที่นั่นมีกฎให้จอดเรือได้นาน 18 เดือน แต่ฝั่งอ่าวไทยจอดได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ดังนั้นยิ่งอยู่นาน โอกาสการสร้างเงินสะพัดทั้งซื้อสินค้า และบริการ รวมถึงซ่อมบำรุงเรือก็มีมากขึ้น ทำให้ทางภาครัฐตัดสินใจแก้กฎนี้ให้กับฝั่งอ่าวไทยเช่นกัน เพื่อเสริมสร้างการท่องเที่ยวทางเรือเต็มรูปแบบ
ลงทุนเรือเกาะกระแสการท่องเที่ยวมาแน่
“ถ้ากระแสการท่องเที่ยวทางเรือยังไม่ตก จะเห็นเศรษฐี หรือผู้เห็นช่องทางในธุรกิจนี้หันมาลงทุนซื้อเรือยอร์ชเพื่อรับจัดทริปให้กับนักท่องเที่ยวแน่นอน เพราะตอนนี้ดีมานด์ค่อนข้างสูง และหน่วยงานรัฐก็เริ่มหันมาสนับสนุนเรื่องนี้เต็มนี้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจุดนี้เองก็ทำให้ธุรกิจของท่าเทียบเรือโอเชียน มารีน่า ยอร์ช คลับ เติบโตแน่นอน 7 – 8% แต่จริงๆ เรื่องนั้นไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะเมื่อการท่องเที่ยวทางเรือบูม เศรษฐกิจโดยรอบน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า และยิ่งนักท่องเที่ยวอยู่นาน ทุกอย่างก็ยิ่งดี”
ล่าสุดทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้จัดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ประกอบด้วยพัทยา – เกาะช้าง (4 วัน 3 คืน) กับเกาะช้าง – เกาะกง ประเทศกัมพูชา (3 วัน 2 คืน) โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเส้นทางใหม่ทั้งสองเส้นนั้น จะช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางเรือเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ผ่านระยะเวลาท่องเที่ยวที่นานขึ้น และสอดรับกับนโยบายการท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Destination ที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
สรุป
ทิศทางของการท่องเที่ยวด้วยเรือกำลังมาแรง เพราะใครๆ ก็อยากไปเที่ยวแบบนี้ และโพสต์รูป Social เพื่อให้เพื่อนๆ อิจฉา ดังนั้นการลงทุนซื้อเรือน่าจะเกิดขึ้นในปรเทศไทยแน่นอน และเมื่อมีเรือมากขึ้น โอกาสการแข่งขันก็สูง และราคาก็น่าจะถูกลงกว่านี้ ซึ่งผลประโยชน์ก็ตกไปที่นักท่องเที่ยวทุกคน และน่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้ไม่น้อย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา