“ถ้าล้มเหลว คุณจะทำอย่างไร” เหรียญ 2 ด้านที่คนอยากเป็น Startup ต้องตอบให้ได้ก่อนลงมือทำ

Startup ในไทยประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้นมา 2-3 ปี มีเรื่องราวที่เรียกว่า Success Story เกิดขึ้นมากมาย องค์กรทั้งรัฐและเอกชนกระโดดเข้ามาให้การสนับสนุน มีหลายโครงการเกิดขึ้น เม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลเข้ามาและดึงดูดให้ใครหลายคนคิดอยากทำ Startup โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ทางธุรกิจ

ส่วนหนึ่งเพราะการทำธุรกิจของตัวเอง หรือการเป็น Entrepreneur ตรงกับลักษณะแนวคิดของเด็กในยุค Gen Y และ Gen Z แต่คำถามที่น่าสนใจคือ พวกเขาได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนแล้วหรือยัง

การได้รับฟังเรื่องราวความสำเร็จเพียงด้านเดียว ทั้งในระดับโลก ในภูมิภาค หรือในประเทศไทย ผลักดันให้กระโดดออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ โดยที่ยังตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่า “ถ้าล้มเหลวแล้ว จะทำอย่างไรต่อไป” เพราะต้องไม่ลืมว่าโลกของธุรกิจมันโหดร้ายกว่าที่คิด

รูปจาก Pixabay.com

เรื่องเล่าความสำเร็จที่ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด

ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือ เด็กรุ่นใหม่ได้รับแรงจูงใจ กระตุ้น และคล้อยตามได้ง่ายเกี่ยวกับการทำธุรกิจของตัวเอง (เพราะตรงกับลักษณะอยู่แล้ว) ทำให้กล้าที่จะออกมาเป็นเจ้าของกิจการ โดยที่ขาดความพร้อม แต่ปัญหาคือ ความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเทพนิยายที่ไม่เป็นความจริง

ปัจจัยหลักที่หลายคน (โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่) ยังไม่รู้คือ พวกเขาเหมาะกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือไม่ พร้อมที่จะรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นหรือยัง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา จะรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ การเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น

และที่สำคัญที่สุด จะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไป จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้หรือไม่

การเห็นภาพของ Mark Zuckerberg, Steve Jobs การได้ยินเรื่องราวของ Facebook, Uber, Airbnb หรือ Startup ที่ประสบความสำเร็จจากในหอพักของตัวเอง หรือในโรงรถเก่าๆ นั่นเป็นความจริงเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นของการเป็นเจ้าของกิจการ การขาดประสบการณ์คือ อุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่รออยู่

รูปจาก Pixabay.com

โครงการสนับสนุนเพียบ แต่ระบบโดยรวมเสีย

การสนับสนุนที่น่ากลัวคือ โครงการของภาครัฐที่ส่ง “ข้อมูล” ที่ไม่ถูกต้องกับโลกธุรกิจไปให้กับทุกคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ทั้งคนสนับสนุน คนทำโครงการ หรือคนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจคาดไม่ถึงคือ เมื่อเริ่มต้นแล้ว จะรักษาให้ธุรกิจอยู่รอด เติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่หนักหน่วงได้อย่างไร

ยิ่งมีเรื่อง Money Game มีเงินทุนสนับสนุนหลายพันล้านหมื่นล้านบาทรออยู่ ยิ่งเป็นแรงดึงดูดใจอย่างดี แต่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับมือด้วย เมื่อมี Startup ล้มเหลวเกิดขึ้น “เจ้าของกิจการ” เหล่านั้น (โดยเฉพาะที่เพิ่งเรียนจบ) จะไปไหน จะทำอะไร

ความเสียหายจากการสร้างผู้ประกอบการเจ้าขอกิจการ ที่สุดท้ายล้มเหลวและไม่มีที่ไป ไม่มีการรองรับ นอกจากภาพรวมระบบเศรษฐกิจที่แย่ลงแล้ว ปัญหาใหญ่อีกประการคือ การขาดแคลนบุคลากรในสาขาต่างๆ ที่ไม่เข้าสู่ระบบงาน แต่เลือกไปเป็นเจ้าของกิจการแทน

ภาพจาก Startup Thailand

Innovation และ Disruption กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

สำหรับคนที่อยากทำ Startup Innovation และ Disruption คือสุดยอดเครื่องมือ แต่ในความเป็นจริงทุกคนก็รู้ดีว่า การจะค้นหาแอปพลิเคชั่นใหม่ที่คนอยากใช้ การสร้างสรรค์บริการใหม่ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบเดิมๆ หรือแม้แต่การจะพัฒนาโทรศัพท์มือถือใหม่สักเครื่องให้คนใช้ เป็นสุดยอดของความยากเช่นกัน

การทำธุรกิจนั้น Innovation และ Disruption เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก สิ่งที่ทำต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือเป็นสิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว และคนอื่นยังต้องเลียนแบบได้ยาก นี่คือสิ่งที่ธุรกิจและผู้บริโภคต้องการเหมือนกัน

และค่าใช้จ่ายกับการสร้าง Innovation และ Disruption นั้นก็สูงมาก ไม่ใช่แค่ตัวเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น เวลา สุขภาพ และครอบครัว

ภาพจาก Pixabay.com

งานมาอันดับ 1 อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึง

การปลูกฝังว่าเจ้าของธุรกิจ Startup ต้องให้เวลากับธุรกิจก่อนทุกสิ่ง และมากกว่าครอบครัวของตัวเอง ใครที่ลาออกมาจากองค์กรขนาดใหญ่ (หรือจบใหม่) เริ่มทำธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้มี งานและชีวิต ที่ดีขึ้น เป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่

มีเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วหลายราย บอกคำเดียวกันว่า “เสียดายเวลาที่ไม่ได้ให้กับครอบครัว” และหลายคนถึงกับเสียใจที่ไม่ได้มีเวลาให้กับคนที่รัก จนกระทั่งมันสายไป มีผู้บริหารหญิงหลายคนที่ไม่อยากกลับไปทำงานประจำ เพราะอยากใช้เวลาอยู่กับลูกคนแรกที่เพิ่งลืมตาดูโลก แต่ก็กลัวว่าจะไม่เติบโตในการทำงาน

จำไว้ว่า เวลามีจำกัด ใครก็ตามที่เสียสละเวลาส่วนตัวอันมีค่าให้กับธุรกิจจนหมด จะเรียกแบบนั้นว่า การประสบความสำเร็จอย่างนั้นหรือ

รูปจาก Pixabay.com

ทำความรู้จักกับ Fear of missing out หรือ FOMO

หลายคนอาจรู้จักกับ FOMO หรือ การกลัวตกกระแส มาบ้างแล้ว ถ้ามองเรื่องของ Startup เป็นกระแสหนึ่งที่เกิดในโลกธุรกิจ หลายคนก็กำลังกลัวตกกระแสนี้ เลยพยายามพาตัวเองเข้ามาอยู่ในโลกของ Startup โดยไม่รู้ว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน

เจ้าของธุรกิจ SME ที่ไม่ได้ทุ่มเทนำธุรกิจของตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์ ถือว่าตกกระแส ไม่มีสื่อให้ความสนใจสัมภาษณ์ทำสกู๊ป หรือไม่ได้ขึ้นไปยืนพูดเล่าเรื่องราวความสำเร็จบนเวทีให้คนอื่นๆ ฟัง

ถ้ากำลังมีความรู้สึก FOMO แบบนี้ ให้ย้อนกลับมาดูธุรกิจให้ชัดเจนอีกครั้ง การทำงานแต่พอดี ดูแลตัวเอง ใส่ใจความสัมพันธ์กับคนรอบกาย และใช้เวลาไปกับเรื่องอื่นๆ บ้าง ดูจะมี Story ให้เล่าได้มากกว่าการทำงานอย่างหนักเพียงอย่างเดียว งานดีๆ มีความสุข แม้จะมีกำไรน้อยหน่อย ก็ทำให้ภูมิใจได้

ที่มา: WSJ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา