ค้าปลีกไทยรั้งอันดับ 10 เอเชีย หากไม่ปรับเทคโนโลยี อีกไม่กี่ปีร่วง

ธุรกิจค้าปลีกไทยในภูมิภาคเอเชีย ทางด้านยอดขายถูกจัดอันดับในปี 2561 รั้งอันดับ 10 ของภูมิภาค มาดูกันว่าในประเทศต่างๆ ปรับตัวอย่างไรกันบ้าง และไทยไปถึงไหนกันแล้ว 

ภาพจาก shutterstock

คาดการณ์ว่าการจัดอันดับธุรกิจค้าปลีกในไทย 2562 คงไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก และหากไม่ปรับตัวในอนาคตมีแนวโน้มว่าการจัดอันดับด้านยอดขายอาจร่วงลงไปอีก 

  1. จีน ยอดขาย 4,660,053 ล้านเหรียญสหรัฐ
  2. อินเดีย ยอดขาย 1,764,468 ล้านเหรียญสหรัฐ
  3. ญี่ปุ่น ยอดขาย 1,538,424 ล้านเหรียญสหรัฐ
  4. อินโดนีเซีย ยอดขาย 639,472 ล้านเหรียญสหรัฐ
  5. เกาหลีใต้ ยอดขาย 377,839 ล้านเหรียญสหรัฐ
  6. ออสเตรเลีย ยอดขาย 235,875 ล้านเหรียญสหรัฐ
  7. ฟิลิปปินส์ ยอดขาย 180,847 ล้านเหรียญสหรัฐ
  8. ปากีสถาน ยอดขาย 179,337 ล้านเหรียญสหรัฐ
  9. ไต้หวัน ยอดขาย 174,925 ล้านเหรียญสหรัฐ
  10. ไทย ยอดขาย 154,576 ล้านเหรียญสหรัฐ
Photo : Shutterstock

ค้าปลีกจีนโตเพราะอะไร

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนที่สร้างยอดขายมหาศาล มาจากการก้าวสู่ New Retail การนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมและเติมเต็มผนวกร้านค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งสองแบบเข้าด้วยกันสู่ค้าปลีกยุคใหม่ จะช่วยให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นแถมยังตอบโจทย์พฤติกรรมคนซื้อที่เปลี่ยนไป

ประเทศจีนมีความโดดเด่นทางเทคโนโลยีและนำมาปรับใช้แทบทุกธุรกิจ ไม่เพียงแต่ธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น เช่น การก้าวสู่ฟินเทค ระบบการชำระเงินทั้งสแกนใบหน้าหรือให้เลือกโดยการสแกนบาร์โค้ด

การพัฒนา รถเข็นอัจฉริยะ (Autonomous Shopping Cart) เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ

นอกจากช่องทางออฟไลน์หรือห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตยังไปได้ดีแล้ว ธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เติบโต นับตั้งแต่ปี 2558 – 2563 ตลาดอีคอมเมิร์ซจีนจะคิดเป็น 47% ของค้าปลีกดิจิทัลทั่วโลก และคาดว่าจะมียอดขาย 2.416 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 36.35%

ญี่ปุ่นยอดขายห้างไม่ได้รับผลกระทบออนไลน์

สำหรับค้าปลีกในญี่ปุ่น ในแต่ละห้างมีบริการ Self-Service เกือบไร้พนักงาน โดยเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าให้ใ่ส่สินค้าไปในช่อง จากนั้นเครื่องจะทำการสแกนและคิดราคาสินค้า โดยที่ผู้ซื้อสามารถเลือกวิธีการชำระเงินมีหลากหลายวิธี ทั้งช่องรูดบัตรเครดิตและช่องสแกน QR Code จากนั้นแค่รอรับสินค้าเท่านั้น

อิออน ตื่นตัวกับเทคโนโลยี ร่วมมือกับบรรดาเทคสตาร์ทอัพในจีนเปิดศูนย์วิจัยแห่งใหม่ เพื่อหวังเรียนรู้เทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (artificial intelligence) และระบบชำระค่าสินค้าและบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์จากสตาร์ทอัพเหล่านั้น

กระทั่ง Lawson นำ AI มาใช้สำหรับการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานที่ทำตลาด โดย AI จะรวบรวมองค์ประกอบต่างๆ เช่น ข้อมูลการจราจรในพื้นที่นั้นๆ เพื่อช่วยการขยายสาขา

ไต้หวันรั้งอันดับ 9 ยังไปไกล

ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ไต้หวัน ไม่มีพนักงานแล้ว โดยขับเคลื่อนใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

นอกจากนี้เคาน์เตอร์ชำระเงินไม่มีพนักงาน เมื่อลูกค้าวางสินค้าที่เคาน์เตอร์สินค้าต่างๆ จะถูกสแกนเพื่อค้นหาบาร์โค้ดบนสินค้า หรือการใช้ facial biometric หรือการเทคโนโลยีการจับใบหน้า เพื่อทำให้ลูกค้าไม่ต้องพกเงินสด

retail

ธุรกิจไทยไปถึงไหนกับการใช้เทคโนโลยี

แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกในไทยจะปรับตัวต่อสู่กับออนไลน์ได้ดี แต่การนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ นำมาใช้ไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ ค้าปลีกไทยอยู่ระหว่างการใช้เทคโนโลยีด้าน Data Analytics นำมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค

คำถามสำหรับค้าปลีกไทยการนำปัญญาประดิษฐ์  อุปกรณ์วีอาร์ หรือกระทั่งฟินเทค และเทคโนโลยี facial biometric มาใช้มากน้อยแค่ไหน เมื่อมองดูประเทศไทยการทำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็น ตู้บริการชำระเงินเอง ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่ตู้ที่ให้บริการ ส่วนการนำหุ่นยนต์มาบริการเป็นเพียงแค่กิมมิคของการทำตลาดเท่านั้น

ความเสี่ยงต่อธุรกิจค้าปลีกไทย

  • การแข่งขันจากธุรกิจค้าปลีกประเภทเดียวกันและธุรกิจค้าปลีกข้ามประเภท
  • ผู้ประกอบการค้าปลีกโมเดิร์นเทรด หันเข้ามารุกทำการตลาดผ่านทางช่องทางออนไลน์ ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากกลุ่มค้าปลีกออนไลน์รายย่อยหรือเอสเอ็มอี
  • การแข่งขันของผู้ประกอบการต่างชาติ อาทิ จีน เกาหลีใต้ที่เข้ามาทำตลาดแบบ E-Market Place ในไทยมากขึ้น

ธุรกิจค้าปลีกในปี 2562 คาดการณ์จะเติบโต 2.6% ถือว่าเป็นตัวเลขไม่สวย มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวได้น้อย โดยแบงก์ชาติคาดการณ์ว่าจีดีพีเติบโตราว 2.8% ปกติค้าปลีกจะเติบโตต่ำกว่าจีดีพี 1-2% ซึ่งรัฐบาลพยายามเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ช่วยกระเพื่อมเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

สรุป

ความท้าทายของประเทศไทยจะนำธุรกิจค้าปลีกก้าวเข้าสู่ New Retail ได้อย่างไร โจทย์คือ การมีบริการใหม่และสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งใหม่ๆ นอกจากนี้การทำธุรกิจค้าปลีกจากนี้ไม่ใช่แค่การทำเฉพาะแค่ออนไลน์หรือออฟไลน์อีกต่อไป แต่ทุกอย่างต้องดีไซน์ประสบการณ์ออกมาให้เชื่อมโยงกันทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพราะสุดท้ายแม้ว่าโลกออนไลน์จะเติบโต แต่มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ต้องการสัมผัสสินค้าและอาจจะมีซื้อผ่านออนไลน์ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา