ทางรอดค้าปลีกไทย ก้าวสู่ New Retail ใช้เทคโนโลยีเปิดประสบการณ์ช้อปปิ้งใหม่

ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยปรับตัวสู้กับค้าปลีกบนโลกออนไลน์มานานกว่า 10 ปีแล้ว และทางรอดต่อไป สู่การเป็น New Retail ให้ได้ เร่งสร้างอีโคซิสเต็มพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา 

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เล่าถึงเส้นทางที่ธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันและก้าวต่อไปธุรกิจค้าปลีกไทยว่า ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยปรับตัวสู่กับค้าปลีกบนโลกออนไลน์ เพราะวางโพซิชั่นนิ่งเป็นไลฟ์สไตล์พลาซ่า คือ ทำให้คนไทยใช้ชีวิตอยู่ในห้างได้ทั้งวัน ตั้งแต่ กิน เที่ยว ช้อปปิ้ง ไม่เหมือนค้าปลีกในอเมริกาที่ทยอยปิดสาขาลง เพราะวางโพซิชั่นนิ่งเป็นช็อปปิ้งพลาซ่าเท่านั้น

New Retail

เมื่อมองถึงยุค New Retail  หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมและเติมเต็มผนวกร้านค้าปลีกออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งสองแบบเข้าด้วยกันสู่ค้าปลีกยุคใหม่ จะช่วยให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นแถมยังตอบโจทย์พฤติกรรมคนซื้อที่เปลี่ยนไปผู้ที่สร้าง New Retail ก็คือ อาลีบาบา

แต่จากประสบการณ์การเกิดของ New Retail ไม่ได้ส่งผลกระทบห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นคุ้นชินกับการซื้อบนสถานีรถไฟฟ้าที่มีห้าง พฤติกรรมจะซื้อของกลับบ้าน พร้อมกับใช้ดาต้าเข้ามาช่วยวิเคราะห์ยอดขายจึงโต

สำหรับในไทยธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้น กระทบต่อค้าปลีกต่างจังหวัดแน่นอน อาจจะเจอปัญหาออนไลน์เข้ามาแชร์ยอดขาย เนื่องจากโลเคชั่นของห้าง เป็นอุปสรรคด้านการเดินของคนที่ต้องเข้ามา แต่การซื้อของออนไลน์กลับตอบโจทย์คนต่างจังหวัดง่ายและสะดวกมากกว่า

คีย์ไดร์ฟให้ธุรกิจออนไลน์โต มาจากการใช้ Database หรือระบบข้อมูลพื้นฐาน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของลูกค้าและการสร้างสรรค์คอนเท้นต์ ทั้งภาพและเสียง หรือข้อความดึงดูดการซื้อสินค้า

ธุรกิจค้าปลีกกลับไม่ค่อยทำอะไรที่ลึกซึ้งมากนัก ปัญหาที่ค้าปลีกสู้ออนไลน์ไม่ได้ลึกซึ่งกับการใช้ Database

ความอยู่รอดธุรกิจค้าปลีกระยะยาว

  • ทำความเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมของลูกค้าตนเองให้ได้มากที่สุด
  • นำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า (Big Data)
  • ผสมผสานช่องทาง Online to Offline : O2O หรือ Omni Channel

ก้าวต่อไปธุรกิจค้าปลีกสู่ New Retail

โมเดลที่อาลีบาบาสร้าง New Retail คือ การสร้างอีโคซิสเต็ม 5 อย่าง คือ ค้าปลีกสมัยใหม่ การเงินใหม่ การใช้เทคโนโลยีใหม่ สู่การการผลิตใหม่และการใช้พลังงานรูปแบบใหม่

ลองดูว่า Hema เห่อหม่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตแนวใหม่ สร้างอีโคซิสเต็มอย่างไร และคือสิ่งที่ค้าปลีกไทยต้องไปให้ได้

  • ป้ายราคาดิจิทัล ยกตัวอย่างเหอหม่า ที่สามารถปรับราคาหรือการทำโปรโมชั่นเพียงแค่ไม่กี่วินาที บาร์โค้ดสามารถช่วยให้ผู้ซื้อตรวจสอบรายละเอียดของสินค้า และเมนูให้ลูกค้าเลือกบริการจัดส่งเอง
  • ชำระเงินผ่านระบบจดจำใบหน้า
  • หุ่นยนต์ให้บริการเสิร์ฟอาหาร
  • การชำระเงินที่จุดเช็คเอาท์สินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น
ซูเปอร์มาร์เก็ต Hema ที่ Alibaba ซื้อกิจการไป

ยุคที่บริษัทใหญ่เคลื่อนไหวเร็วกินเรียบ

หากอาลีบาบามาเปิดธุรกิจค้าปลีกในไทย เราจะสู้อย่างไร เป็นรายใหญ่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยี หรืออย่าง Amazon go กับ Amazon เรียกว่าเป็นเจ้าพ่อบิ๊กดาต้า มีทั้งค้าปลีกออนไลน์ และออฟไลน์ ใช้เอไอในการทำตลาด เรียกว่าเป็นจอมยุทธไร้เทียมทาน ถ้าไทยไม่ปรับตัวเหนื่อยแน่

ค้าปลีกต้องสู้ออนไลน์ นำจุดแข็ง 2 ด้าน การจัดกิจกรรม (Activity) ต้องแข็งแกร่งและผสานกับการบริการ  (Service) สูตรสำเร็จอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added)

พาวเวอร์บาย สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร

การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added)  หากไม่ปรับตัวในอนาคตจะเป็นแค่โชว์รูมสินค้า คนจะแค่มาดูสินค้าและกลับไปซื้อของออนไลน์ ดังนั้นต้องปรับบริการให้มีการบริการก่อนและหลังการขายที่ดีให้กับลูกค้า ถีงแม้ว่าจะแพงหน่อยแต่ลูกค้าก็พร้อมจ่าย แต่การสร้างมูลค่าเพิ่มต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะคือต้นทุนทั้งนั้น

B2S การสร้างสรรค์กิจกรรมดันยอดขาย

การจัดกิจกรรม (Activity)  บีทูเอส ไม่ได้เป็นแค่ร้านขายหนังสือแต่เป็นร้านที่ขายอุปกรณ์ไอโอที  B2S ขายบอร์ดเกม สำหรับเด็กและครอบครัว เพื่อพัฒนาทักษะเด็กๆ แต่เนื่องจากสินค้าราคาค่อนสูง หากจะดึงให้ลูกค้าซื้อต้อง จึงจัดกิจกรรมเกมบอร์ดให้เด็กได้แข่งขันและสนุกร่วมกัน สุดท้ายยอดขายก็มา

สรุป

ธุรกิจค้าปลีกในไทยยังไม่ตายแน่นอน ไม่เหมือนในอเมริกาที่ทยอยปิดสาขาไปเป็นจำนวนมาก แต่ค้าปลีกต้องสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อเชื่อมโยงระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ การแก้เกมของค้าปลีกยังมีอีกเยอะ โดยการการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือสำคัญ เมื่อลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าภายในศูนย์จะดักจับอย่างไรให้ซื้อของและอยู่ในห้างได้นานที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ระบบการชำระเงิน ป้ายราคาระบบดิจิทัล และเมื่ออยู่ในโลกออนไลน์จะทำอย่างไรเพื่อช่วงชิงกำลังการซื้อท่ามกลางการใช้กลยุทธ์ราคาที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา