หลังจากที่ AIS ได้ประกาศผลประกอบการช่วง 9 เดือนของปี 2562 ออกมา โดยบริษัท มีรายได้จากการให้บริการหลักรวมอยู่ที่ 104,883 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5.2% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 24,019 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5.1% นอกจากนี้ บริษัทยังมีส่วนแบ่งตลาดป็นอันดับ 1 ทั้งด้านรายได้ และจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือที่มากที่สุด 41.6 ล้านเลขหมาย ส่วนทางด้านของธุรกิจเน็ตบ้าน AIS Fibre ก็โตไม่หยุด เฉพาะในไตรมาส 3 มีลูกค้าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 11 ไตรมาสที่ผ่านมา มีลูกค้าปัจจุบันที่ 937,000 ราย
แล้วทิศทางธุรกิจของ AIS จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ Brand Inside พาไปฟังภาพรวมของ AIS หลังจากนี้โดย คุณนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)
กลุ่มธุรกิจ Mobile
คุณนัฐิยา ได้กล่าวถึงว่า ลูกค้าเลือกเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพราะคุณภาพของเครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยช่วงครึ่งปีแรกนั้น AIS ยังคงครองแชมป์ อันดับ 1 ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่เร็วที่สุดในไทย, เครือข่ายมือถือที่ครอบคลุมมากที่สุดในไทย และเครือข่ายมือถือที่ดีที่สุดในไทย จาก Ookla ซึ่งเผยข้อมูลการทดสอบอินเทอร์เน็ตโดยผู้ใช้ในประเทศไทย ทำให้การรับรู้ของลูกค้านั้นดีขึ้น
สำหรับในตอนนี้ AIS มีรายได้เติบโต 4.3% จากการใช้งานของลูกค้า 4G เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยเติบโตมาจากลูกค้ากลุ่ม Postpaid เป็นหลัก ซึ่งหากดูจำนวนลูกค้าในตลาดรวม ถือว่าเติบโตขึ้นไม่มากนัก คือ 1-2% คุณนัฐิยาได้กล่าวว่า สภาวะของอุตสาหกรรมตอนนี้ใกล้อิ่มตัวแล้ว ต้องรอดูการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ หรือ 5G เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ๆ
นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ยังใช้ 3G อยู่ แต่เปลี่ยนมาเป็น 4G ซึ่งการใช้งาน Data จะเยอะมาก โดยคุณนัฐิยา มองว่า การใช้งาน 4G จะไหลลื่นมากกว่า ประสบการณ์ใช้งานดีมากกว่า จึงเป็นทางเลือกให้ลูกค้า 3G เปลี่ยนมาใช้งานมากขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ที่มี Package ส่วนลดค่าเครื่องให้ลูกค้าเติมเงินหันมาใช้ Postpaid มากขึ้น เปรียบเทียบถ้าหากลูกค้าเติมเงินที่ต้องเติมเงินเรื่อยๆ ซึ่ง Package แบบรายเดือนจะตอบโจทย์การใช้งาน Data มากยิ่งกว่า ประหยัดมากกว่า
โดยกลยุทธ์จากนี้ คือการทำตลาด FMC ขยายบริการเน็ตบ้านให้กับลูกค้า AIS Mobile ก็ยังอีกโอกาสเติบโตอีกมาก รวมถึง รายได้อื่นๆ จากกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ใช้บริการด้าน ICT โซลูชั่นต่างๆ มากขึ้น
กลุ่มธุรกิจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
คุณนัฐิยา ได้เล่าว่าปัจจุบัน ฐานลูกค้าตลาดรวมเน็ตบ้าน มีผู้ใช้งานประมาณ 9 ล้านครัวเรือน จากจำนวนครัวเรือนในไทยที่มีกว่า 22 ล้านครัวเรือน โดยมองว่าสังคมเมืองกำลังขยายตัว ทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ เทคโนโลยี Fibre เข้ามาทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความเสถียรและมีคุณภาพดีขึ้น ส่งผลให้ประสบการณ์ใช้งานดีขึ้น
โดย Package ของ AIS นอกจาก Speed ที่สามารถพัฒนาได้ใกล้เคียงกันแล้ว คือการคำนึงถึงประสบการณ์ด้านการใช้งานของลูกค้า เช่น เรามองว่าลูกค้าไม่ได้ใช้งานหรือมีกิจกรรมอยู่เฉพาะเพียงจุดใดจุดหนึ่งภายในบ้าน ดังนั้น เราจึงได้ติดตั้ง Router เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการเชื่อมต่อ WiFi จำนวน 2 ตัว ให้ครอบคลุมการใช้งาน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เช่น ค่าใช้จ่ายของช่างในการเดินทางไปแก้ปัญหาการใช้งานที่บ้านลูกค้า ฯลฯ
นอกจากนี้ AIS ยังได้หาลูกค้าใหม่ๆ จากฐานลูกค้ามือถือ มาใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านผ่านทั้ง Call Center, AIS Shop และช่องทางออนไลน์อย่าง LINE Official Account
ความแข็งแกร่งของงบการเงิน
คุณนัฐิยา ยังได้กล่าวถึง เรื่องความแข็งแกร่งของสถานะการเงินของบริษัท โดยอัตราหนี้สินต่อกำไร (Net debt to EBITDA) ตอนนี้อยู่เพียง 1 เท่า ถือว่าค่อนข้างต่ำ โดย คุณนัฐิยาได้เปรียบเทียบว่าใช้กำไรของบริษัท 1 ปีก็จ่ายหนี้สินได้หมด แต่ถ้าหากเปรียบเทียบผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ ของต่างประเทศคือ 2 เท่า ทำให้ยังมีความสามารถกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อนำมาลงทุน 5G ได้ในอนาคต
ขณะที่อัตราส่วนกำไรต่อผู้ถือหุ้น Return on Equity (ROE) ซึ่งของ AIS จากทุน 100 AIS สร้างกำไรคือกลับมาได้ 55% ถือเป็นผู้ให้บริการไม่กี่แห่งทั่วโลกที่ทำได้ดีขนาดนี้ ขณะที่ กระแสเงินสด (Cash Flow) จากการประกอบกิจการของ AIS ล่าสุดอยู่ที่ 62,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก ส่งผลให้สามารถนำงบกระแสเงินสดไปจ่ายเงินปันผลหรือใช้จ่ายอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า AIS มีความแข็งแกร่ง ซึ่งงบกำไรขาดทุนนั้นไม่สามารถบอกว่ากิจการดีได้ทั้งหมด ต้องดูกระแสเงินสดด้วย
นอกจากนี้ เธอได้กล่าวถึงว่า อนาคต หาก AIS มีการลงทุนไม่สูง ราคาคลื่นที่จ่ายนั้นบริษัทรับได้ รวมถึงมีรายได้ใหม่ๆ จาก 5G ก็อาจทำให้อัตราการจ่ายปันผลมากขึ้น ซึ่งนโยบายเงินปันผล ณ ปัจจุบันคือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70% ของกำไรสุทธิ
AIS คาดการณ์ว่ารายได้จาก Core service คาดว่าจะเติบโต 5-6% โดย 9 เดือนล่าสุดโต 5% ซึ่งอยู่ในคาดการณ์ของบริษัท ส่วนทางด้าน EBITDA Margin บริษัทมองว่าทรงตัวจากปีที่แล้ว ได้ผลดีจากการบริหารต้นทุน และทำ Target กลุ่มลูกค้า ในการแข่งขันได้ดี ด้านงบลงทุนไม่รวมการจ่ายค่าคลื่นปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท
เรื่องของ 5G
ล่าสุดนั้นทาง กสทช. ออกมาพูดถึงเรื่องของการประมูล 5G เช่น คลื่น 700 เป็นต้น คุณนัฐิยาได้กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะลงทุนคือบริษัทสามารถทำกำไรจากการลงทุนได้ แต่ Ecosystem ของ 5G ก็ต้องรองรับได้ด้วย ถ้าลงทุนไปก่อนแล้วไม่เกิดรายได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่คุ้ม นอกจากนี้ คุณนัฐิยายังมองว่า 5G นั้นจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกไปได้อีกมาก
เปรียบเทียบเหมือน 2G ไป 3G สิ่งที่เกิดขึ้นคือการ Chat เช่น การใช้ BlackBerry แต่การใช้งานลักษณะของ Video Call มาเกิดขึ้นจริงๆ ในยุคของ 4G ที่เมื่อสมัยก่อน เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ไม่ค่อยมีคนใช้ แต่สมัยนี้กลับกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น การ LIVE สดบนโซเชียล แต่ยุค 5G จะดีกว่านี้อีกเช่น เทคโนโลยี Live Steaming, VR, AR แล้วปริมาณการใช้ Data ถือว่ามหาศาล
อีกเรื่องที่ คุณนัฐิยา มองไว้คือ การใช้งานของธุรกิจ B2B2C เช่น IoT จะเป็น Machine คุยกับ Machine ได้มากขึ้น เช่น Smart City หรือแม้แต่ Smart Home ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในไทย 90 ล้านเลขหมาย ไม่ได้ Limit ที่คนใช้อีกต่อไป ต่อไป Device ที่เชื่อมต่อ Network มากมาย เช่น เพื่อ Alert หรือสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รายได้จะมาในรูปแบบใหม่ๆ เช่น รายได้จากกลุ่ม ICT เช่น เรื่อง Cloud จึงทำให้ AIS เข้ามาเน้นเรื่องของ Enterprise มากขึ้นจากการซื้อกิจการของ CSL เพื่อสอดรับยุค 5G มากขึ้น
นอกจากนี้ AIS จับตาดูสถานการณ์ของพัฒนาการของตลาดในเรื่อง 5G ด้วย ขณะเดียวกัน การที่มี 5G เข้ามา อาจทำให้บริษัทต้องหาโมเดลราคากันใหม่ รวมไปถึงต้องคำนึงถึง Technology ที่พัฒนาอยู่ ราคาคลื่นที่ลงทุนไปจะคุ้มหรือไม่
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา