ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “กลุ่มเซ็นทรัลได้สานต่อยุทธศาสตร์ขยายการลงทุนในต่างประเทศ ตามเทรนด์การท่องเที่ยวโลก (Global Tourism Trend) ด้วยการพัฒนาโครงการแฟล็กชิพที่มีศักยภาพสูงในเมืองท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ล่าสุดได้ลงทุนโครงการครั้งยิ่งใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ โครงการมิกซ์ยูสที่กรุงเวียนนา ประเทศ ออสเตรีย, โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา ประเทศญี่ปุ่น และห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต เมืองตูริน โฉมใหม่ ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดย ทุกแห่งที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปลงทุนล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมพัฒนาท้องถิ่นและสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ครบทุกความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวทั่วโลก”
- มิกซ์ยูสโปรเจคสุดหรูกลางกรุงเวียนนา
โครงการขนาด 58,000 ตร.ม. ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้าและโรงแรมสุดหรูขนาด 150-165 ห้องพัก ร้านค้า พร้อมด้วยร้านอาหารชั้นนำและสวนสาธารณะลอยฟ้า สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ที่จะเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเวียนนา โดยมุ่งเน้นให้เป็นจุดหมายใหม่แห่งการพบปะสังสรรค์ ด้วยรูปแบบที่ทันสมัยและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมือง
เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงได้ร่วมกับเทศบาลนครเวียนนา จัดการประกวดการออกแบบระดับนานาชาติ ขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยมี 4 บริษัทสถาปนิกชื่อดังระดับโลกร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ได้แก่ O.M.A (Office of Metropolitan Architecture) จากเมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์, BIG (Bjarke Ingels Group) จากเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก, Snøhetta จากประเทศนอร์เวย์ และ Hadi Teherani สถาปนิกสัญชาติอิหร่าน-เยอรมันจากประเทศเยอรมนี
โดยผลงานการออกแบบที่ชนะการประกวด เป็นของบริษัท O.M.A จากแรงบันดาลใจ ภายใต้แนวคิด “เดอะ ลิ้งค์” (The Link) ชูจุดเด่นของตัวอาคารใหม่ที่เชื่อมโยงกับตัวเมืองได้อย่างลงตัว ผ่านการจัดสรรพื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ ให้ดูมีชีวิตชีวา แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวในเวลาเดียวกัน
โครงการนี้ ตั้งอยู่บนทำเลศักยภาพสูงใจกลางถนนมาเรียฮิลเฟอร์ สตราเซ (MariahilferStraße) แหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมและยังอยู่ในละแวกใกล้เคียงย่านพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของกรุงเวียนนา โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มซิกน่า (SIGNA Group) บริษัทชั้นนำในประเทศออสเตรีย โดยมีแผนที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2566
- โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา
โรงแรมภายใต้แบรนด์เซ็นทาราแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่น ใจกลางย่านนัมบะ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเมืองโอซากาและภูมิภาคคันไซ โดยโอซากา ถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมามากที่สุด ด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่น และทำเลของเมืองที่ใกล้กับเมืองเกียวโต โกเบ และนารา สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มเซ็นทรัลในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจสู่เมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา เป็นโรงแรมแฟล็กชิพระดับ 5 ดาว ใจกลางเมือง เทียบเท่ากับโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นโรงแรมหรู 34 ชั้น ขนาด 515 ห้องพัก สามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของสวนสาธารณะนัมบะได้เต็มวิสัยทัศน์ 360 องศา ชั้นบนสุดของโรงแรมจะมีทั้งเลานจ์ และพื้นที่สำหรับจัดงานอีเวนท์และประชุมสัมมนา รวมถึงร้านอาหารชั้นดาดฟ้า และสกาย บาร์ พร้อมทัศนียภาพอันงดงามของเมืองโอซากาในแบบพาโนรามา
ในส่วนของการออกแบบ เป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างแรงบันดาลใจสไตล์ญี่ปุ่น และความมีชีวิตชีวาและสีสันของวัฒนธรรมไทย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งสปาเซ็นวารี ที่ได้รับการการันตีด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ห้องอาหารหลากหลายรูปแบบและห้องจัดเลี้ยงสำหรับการจัดงานอีเวนต์และสัมมนาประเภทต่างๆ รวมถึงล็อบบี้ขนาดโอ่โถงเพื่อมอบการต้อนรับและบริการแก่แขกผู้เข้าพักจากทั่วทุกมุมโลกอย่างอบอุ่น
นอกจากนี้โรงแรมยังตั้งอยู่ในย่านท่องเที่ยวยอดนิยมของโอซากา เพียงไม่กี่ก้าวจากสถานที่ยอดฮิตอย่างนัมบะ พาร์ค สวนสาธารณะลอยฟ้าที่มีทั้งหน้าผา บ่อน้ำ ลำธาร และน้ำตก และยังไม่ไกลจากย่านนัมบะ หรือที่เรียกว่า มินามิ ซึ่งเต็มไปด้วยร้านอาหาร และบาร์มากมาย รวมถึงแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ย่านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และศาลเจ้าชินโต หนึ่งในศาลเจ้าเก่าแก่ที่เป็นที่เคารพบูชามากที่สุดของชาวโอซากา
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซากา เป็นการร่วมทุนระหว่างโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กับสองบริษัทก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น Taisei Corporation และ Kanden Realty & Development เมื่อแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2566 เซ็นทารา แกรนด์ โอซากา จะเป็นโรงแรมแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมืองโอซากาอย่างแน่นอน
- ห้างสรรพสินค้ารีนาเซนเต สาขาตูริน
ตูริน ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กลุ่มเซ็นทรัลภาคภูมิใจ โดยเล็งเห็นศักยภาพของการค้าและการท่องเที่ยวของเมืองตูริน ซึ่งเปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามของประเทศอิตาลี ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ สุดคลาสสิค ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อที่ดินอาคารเมื่อปี พ.ศ.2560 และออกแบบพัฒนาโครงการใหม่ทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มเซ็นทรัลที่ตั้งใจจะยกระดับเมืองตูริน สู่ประสบการณ์ช้อปปิ้งนำสมัย และสร้างความภูมิใจให้กับชาวเมืองตูริน และผู้มาเยือนทุกคน
ห้างสรรพสินค้าถูกปรับปรุงอย่างเต็มรูปแบบ และขยายพื้นที่ขายสุทธิเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อาคารห้างได้รับการออกแบบโดย Gianmatteo Romegialli นักออกแบบชื่อดังระดับโลก ผู้ตกแต่งเปลือกอาคาร (Façade) ของห้างด้วยหินอ่อน Travertine สุดหรู และสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้ชั้น G ด้วยเสาขนาดใหญ่ 4 ต้น และโคมระย้า (Chandelier) สุดอลังการใจกลางห้าง โดยมีทีมดีไซน์เนอร์มืออาชีพที่ร่วมรับผิดชอบในโครงการนี้ด้วย ได้แก่ Paolo Luccetta, Fabio Fantolino, David Lopez และ Fanny Bauer
ความพิเศษของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ คือ โซนเครื่องประดับโฉมใหม่ – รองเท้า กระเป๋า จิวเวลรี่ และแบรนด์ลักชูรี่ใหม่ๆ อาทิ Bottega Venetta, Burberry, Alexander McQueen และ Marni นอกจากนี้ยังมี ร้านอาหารเทมาคินโฮ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วที่สาขาโรม เสิร์ฟอาหารสไตล์ฟิวชั่นญี่ปุ่น–บราซิล พร้อมที่นั่งโซนเอาท์ดอร์สุดพิเศษ โดยในวันเปิดห้างสรรพสินค้า เคียรา อัปเปนดิโน นายกเทศมนตรีเมืองตูรินให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดห้างอย่างเป็นทางการ ร่วมกับผู้บริหารเซ็นทรัล และรีนาเชนเต พร้อมด้วยเซเลบริตี้ และลูกค้าที่มาร่วมเฉลิมฉลองอย่างคับคั่ง
การแข็งค่าของเงินบาทและอัตราภาษีนำเข้าสูง
ยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มเซ็นทรัล ยังได้ แรงหนุนจากค่าเงินบาทแข็งซึ่งช่วยให้การพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยรายได้ของธุรกิจในต่างประเทศของกลุ่มเซ็นทรัล ในปี 2561 ประกอบด้วย เวียดนาม ยุโรป และมัลดีฟส์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มเซ็นทรัล และจะเติบโตขึ้นต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าจากการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่ได้เปิดตัวไป
ถึงแม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรปจะชะลอตัว แต่ธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลในยุโรป ได้แก่ อิตาลี เดนมาร์ก และเยอรมนี ยังคงเห็นแววการเติบโตที่สดใส โดยมาจาก ยอดขายจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น 12–20% จากปีที่แล้ว รวมถึงยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยที่ไปช้อปปิ้งตามห้างของกลุ่มเซ็นทรัลในยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกแห่ง โดยเฉพาะห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ ที่นครมิวนิค และ ห้างรีนาเชนเต ประเทศอิตาลี ที่ ยอดขายจากนักท่องเที่ยวไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 เติบโตขึ้นอย่างน่าประทับใจถึง 30% และ 50% ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลต้องขอขอบคุณลูกค้าชาวไทยทุกคนที่สนับสนุนและช้อปปิ้งที่ห้างยุโรปของกลุ่มเซ็นทรัล
การเติบโตของธุรกิจสะท้อนให้เห็นถึง ไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวของลูกค้าไทยยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป คนไทยนิยมไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น โดยแรงจูงใจมาจากราคาสินค้าที่ต่ำกว่าเนื่องจากไม่มีภาษีนำเข้าและเมื่อค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นทำให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลง
“ประเทศไทยยังมีโอกาสสูงที่จะส่งเสริมและกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศหากค่าเงินบาทอ่อนตัวลง และภาษีนำเข้าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ปัจจุบันภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ของประเทศไทยมีอัตราสูงที่สุดในเอเชีย ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากเงินบาทอ่อนค่าลง และมีการลดอัตราภาษีนำเข้า จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวไทยให้เกิดการเติบโต คนไทยก็ไม่ต้องไปช้อปต่างประเทศ เพิ่มการจ้างงานทั้งในภาคค้าปลีก และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นตามไปด้วย” ทศ กล่าวปิดท้าย
ภาคผนวก
อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ – ยูโร, เยน เทียบกับ บาท
อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยตามไตรมาสจากธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
หากเปรียบเทียบกับช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนต่ำสุดในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 25%เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร และ แข็งค่าขึ้น 19% เมื่อเทียบกับสกุลเงินญี่ปุ่น
นักท่องเที่ยวไทย และการใช้จ่ายในต่างประเทศ
แสดงให้เห็นถึงจำนวนคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ในแต่ละปี จากจำนวน 6.8 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มเป็น 10 ล้านคนในปี 2561 ส่งผลให้ยอดขายของห้างในต่างประเทศจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเติบโตขึ้นถึง 14% จากยอดขาย 58,000 ล้านบาทในปี 2558 พุ่งสูงขึ้นเป็น 86,000 ล้านบาทในปี 2561
อัตราภาษีนำเข้าประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์ เทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน ปี 2019
ภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ของประเทศไทยถือว่าเป็นอัตราภาษีนำเข้าที่สูงที่สุดในเอเชีย
Source: Thailand Ministry of Finance Announcement on Tariff Reduction (Section 12, 2017), Thailand Customs Tariff Announcement (6th Edition, 2016), China Ministry of Finance, PWC Indonesia Tax Book, Indonesia National Single Window, Malaysian Knitting Manufactures Association (MKMA), Singapore Customs, Japan Customs, Tariff Commission of the Philippines, Vietnam Customs
1) อัตราภาษีนำเข้าอย่างเป็นทางการ ไม่รวมการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับดิวตี้ฟรี, BOI หรือ FTA
2) เวียดนามอาจใช้เวลาถึง 8 ปีในการลดภาษีนำเข้าสินค้ายุโรปเป็นศูนย์ อ้างอิงจากนโยบายสนับสนุนด้านภาษีของประเทศเวียดนาม
- ค่าเงินบาทแข็ง และการตั้งกำแพงภาษีสูงของไทย ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความน่าดึงดูดใจของประเทศไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว
- รัฐบาลทั่วโลกได้ทำการประเมิน และลดอัตราภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง มิใช่เพียงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย และการลงทุนในประเทศ
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่ารายได้โดยตรงจากการท่องเที่ยว คิดเป็น 12% ของจีดีพีประเทศไทย หากรวมกับรายได้โดยอ้อมแล้ว สัดส่วนตัวเลขอาจแตะถึง 20%
- สมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า รายได้จากภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง คิดเป็นร้อยละ 16 ของจีดีพีและมีส่วนในการจ้างงานถึงร้อยละ 17
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา