ทรู ศึกษาบริการ 5G จาก China Mobile พร้อมปรับใช้งานในไทย

ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า China Mobile เป็นพันธมิตรกับทรู โดยการเข้ามาถือหุ้น 18% เมื่อปี 2557 มูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ตอนนั้นมา ทำให้ ทรู ได้ร่วมมือกับทาง China Mobile ในหลายๆ ด้าน และล่าสุด ทรู เข้ามาศึกษาเทคโลโลยี 5G เนื่องจากอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทาง China Mobile ได้นำร่อง และทดลองเปิดให้บริการแล้วในบางพื้นที่ และที่สำคัญ China Mobile ได้ใช้ 5G ย่าน 2600MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่ทาง กสทช. จะเปิดให้มีการประมูลในปีหน้า 

China Mobile

“การที่ China Mobile ได้เริ่มทดลองการให้บริการ 5G แล้ว ยังมี solution และ use cases อื่นๆ ที่ได้ทดลองใช้งานจริงควบคู่ไปในหลายภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในหลายๆ ตัวอย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง การสาธารณสุข การเกษตร ระบบสาธารณภัย ที่ทำให้ทรู สามารถเรียนรู้ และนำไปพัฒนาต่อยอดในไทยได้”

รัฐบาลจีนสนับสนุน 5G ไม่ต้องประมูลใบอนุญาต

สำหรับรัฐบาลจีน ต่างให้เอกชน 3 ราย ทั้ง China Mobile, China Telecom และ China Unicom (โดยมีรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) ไม่ต้องประมูลคลื่นความถี่ที่นำมาใช้กับ 5G แต่อย่างใด ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทั้งสามราย สามารถนำงบลงทุนต่างๆ ไปวางระบบเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจับมือร่วมก่อตั้งสถาบันวิจัย และพัฒนา (R&D) เพื่อศึกษาการนำ 5G ไปใช้ในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผู้บริหารทรู ยังเสนอแนะว่า รัฐบาลไทย ไม่ควรที่จะหารายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เป็นหลัก เพราะโอเปอเรเตอร์ต่างมีข้อจำกัดในการลงทุน ควรสนับสนุนสถาบันวิจัย เพื่อศึกษาและพัฒนา 5G ที่จะสามารถใช้งานชีวิตประจำวัน หรือต่อยอดภาคอุตสาหกรรมได้ ให้ 5G เกิดประโยชน์สูงสุด

Use cases ของ China Mobile ที่ทรูพร้อมนำมาต่อยอด

China Mobile วางกลยุทธ์ 5G ประกอบไปด้วย 5G+4G / 5G+AICDE / 5G+ECOLOGY ซึ่ง 5G จะต้องทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะผสานการทำงานร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ แบ่งออกเป็นรายละเอียดดังนี้

5G+4G 

การวางเครือข่าย 5G เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ใช้เครือข่ายอื่น ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่การส่งข้อมูล มีความถี่สูงมาก การกระจายคลื่นไปได้ไม่ไกล การวางเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ จะต้องวางทั้ง 5G+4G โดยการวางเครือข่าย 5G นั้นจะวางในตำแหน่งที่มีการใช้งานหนาแน่น ส่วนการวางเครือข่าย 4G จะช่วยรองรับการส่งถ่ายข้อมูล ในสถานที่ที่เป็นจุดอับ สัญญาณ 5G เข้าไม่ถึง หรือเป็นช่วงรอยต่อของสัญญาณ เพื่อให้ประสิทธิภาพการใช้งานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ

5G+ AICDE

5G ไม่ได้เป็นเพียงแค่การส่งสัญญาณเครือข่ายที่รวดเร็วกว่า 4G เท่านั้น ยังสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงการทำงานไปอีกขั้นในทุกๆ อุตสาหกรรม โดยทุกอุปกรณ์ในอนาคตจะเชื่อมต่อเครือข่าย 5G และตอบสนองได้อย่างรวดเร็วไม่ถึงเสี้ยววินาที 

การที่จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานได้อย่างครบวงจรนั้น ต้องอาศัยเรื่อง เทคโนโลยีอื่นๆ ช่วยรองรับให้การทำงานสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ทาง China Mobile เลยนิยามคำว่า AICDE ย่อมาจากคำว่า AI, IoT, Cloud computing, Big Data, Edge computing เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน 

5G+ECOLOGY

อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น AIoT หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ขนาดใหญ่ ที่จะอาศัยกลไกอัตโนมัติในการควบคุมทั้งระบบ จะต้องอาศัยเครือข่าย 5G เข้ามาเป็นตัวกลาง ด้วยเทคโนโลยีที่มี latency ต่ำกว่า 1ms ทำให้การควบคุมอุปกรณ์ปลายทางสามารถทำได้ทันทีแบบ real time ยกตัวอย่างได้แก่ ระบบการขับรถโดยการควบคุมระยะไกล การผ่าตัดที่แพทย์สามารถควบคุมอุปกรณ์จากอีกฝากหนึ่งของเมืองไทย การใช้โดรนส่งของ การถ่ายถอดภาพ รวมถึงการใช้โดรนลาดตระเวณผลผลิตแทนมนุษย์ 

ทั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับความผิดปกติของอุปกรณ์ที่ติดตั้ง IoT ที่ใช้พลังงานต่ำมาก แบตเตอรี่อยู่ได้ประมาณ 5-10 ปี รองรับการใช้งานของอุปกรณ์ได้มากกว่า 1 ล้านชิ้น ต่อพื้นที่การทำงาน 1 ตารางกิโลเมตร ลดการใช้ทรัพยากรคนในการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ 

ในส่วนระบบของ Mobile Broadband สามารถส่งข้อมูลได้รวดเร็วสูงสุด 10Gbps ในพื้นที่ที่หนาแน่น โดยไม่ต้องพึ่งพาสายส่งสัญญาณเหมือนแต่ก่อน สามารถส่งสัญญาณสดแบบไร้สาย คุณภาพ 8K ได้อย่างสบาย ที่ไหนก็ได้ที่สัญญาณ 5G ไปถึง

Case study 5G+ECOLOGY และ 5G+AICDE ยกระดับ “เฉิงตู” เมือง 5G  

China Mobile ร่วมมือกับ Huawei ในการติดตั้งเครือข่าย 5G ทั่วเมืองเฉิงตู มนสถานที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น อาทิตอนใต้ของเขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคเฉิงตู, Taikoo Li, Tianfu Software Park, ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยแพนด้าเฉิงตู, รถไฟใต้ดินสาย 10, Waldorf Astoria, Kuanzhai Alley และ Dujiangyan ครอบคลุมการใช้งานหลากหลายมิติ ทั้งด้านอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว สถาบันวิจัย สถานีรถไฟฟ้า โรงแรม เป็นต้น

สำหรับสำนักงานใหญ่ China Mobile สำนักงานใหญ่ เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน มีส่วนของนิทรรศการ 5G ที่ให้ได้เรียนรู้การนำ 5G ไปใช้กับ Use cases ต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม จะเกิดขึ้นได้นั้น China Mobile ได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยขึ้น เพื่อศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูลการนำ 5G ไปใช้ ประกอบด้วยขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้ 

  1. เอาโจทย์ของแต่ละ vertical มาวิจัย ว่าสามารถทำอะไรอย่างไรได้บ้าง 
  2. นำเอาข้อสรุปจากโจทย์มาแก้ปัญหา และสร้างให้เป็นรูปธรรม 
  3. นำเอาไปใช้ และพัฒนาปรับปรุงให้มีความเสถียรมากที่สุด

Use cases การออกแบบอาคาร โดยใช้ 5G+AI+Cloud computing 

การออกแบบอาคาร สามารถเปลี่ยนรูปแบบทรงอาคาร รวมถึงการปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการแบบ real time อาศัยการส่งข้อมูล 5G ไปยัง Cloud computing ในการเรียกข้อมูล และนำ AI มาใช้คำนวน และออกแบบตึกให้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

Use cases การติดตั้งเซนเซอร์ ในเครื่องจักรอุตสาหกรรม การขุดอุโมงข้ามแม่น้ำ และ โรงไฟฟ้า โดยใช้ 5G+AIoT+Cloud computing

เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ หากเกิดปัญหาด้านกลไก ระบบไฟฟ้า รวมถึงเซ็นเซอร์ที่หัวขุดเจาะ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญในโรงไฟฟ้า ระบบเซ็นเซอร์ที่เป็นชิ้นส่วน AIoT เมื่อพบความผิดพลาด ระบบจะสามารถรายงานผลทันที และหยุดการทำงานทันที เพราะเพียงเสี้ยววินาที สามารถลดการสูญเสียต่อเครื่องมือ และทรัพยากรมนุษย์ 

ความแม่นยำ หากพบอุปกรณ์ที่มีความผิดพลาด ระบบจะแจ้งพิกัดตำแหน่งที่อุปกรณ์เสีย มีความคลาดเคลื่อน +- เพียง 10 เซนติเมตรเท่านั้น 

AIoT จะรายงานสถานการณ์แบบ realtime และหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สามารถหยุดระบบได้ทันที หากเป็นระบบเก่า เซนเซอร์จะหน่วงและช้ากว่านี้ ทำให้อาจจะเกิดการสูญเสียได้ 

Use cases การตรวจสอบแผงวงจรไฟฟ้า โดยใช้ 5G+AI

กลไกของเครื่องมือที่ติดตั้ง 5G พร้อม AI จะทำการตรวจสอบแผงวงจรไฟฟ้า โดยทำการสแกนได้อย่างรวดเร็ว หากพบข้อผิดพลาด เครื่องมือจะทำการ reject ออกจากระบบทันที โดยลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์ ร่นระยะเวลาการตรวจสอบ

Use cases การตรวจความเรียบของใบพัดอุตสาหกรรมในการปั่นไฟ โดยใช้ 5G+AI

เมื่อการตรวจสอบความเรียบของใบพัดอุตสาหกรรมที่ใช้ไว้สำหรับการปั่นไฟ ในเขื่อน หากใบพัดไม่เรียบ เนื่องจากเกิดความสึกหรอ ทำให้การปั่นกระแสไฟฟ้าไม่ราบรื่น หากตรวจด้วยแรงงานมนุษย์ จะกินเวลาหลายวัน แต่หากใช้เครื่องมือที่ติดตั้ง 5G พร้อม AI สามารถตรวจสอบใบพัดแบบ real time ร่นระยะเวลา ลดความเสียหาย ลดกำลังคนในการทำงาน

Use cases การควบคุมการจราจร โดยใช้ 5G+AI+Cloud computing 

บางสี่แยกในเมืองเฉิงตู ได้ทดลองการจัดการจราจร โดยใช้ 5G+AI ในการคำนวนปริมาณรถยนต์ ให้สอดคล้องกับสัญญาณไฟจราจร โดยที่ระบบจะสามารถตรวจจับว่า สิ่งที่เคลื่อนที่บนท้องถนน เป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบัส รถบรรทุก หรือคนเดินข้ามถนน 

รายละเอียดเหล่านี้ สามารถนำไปวิเคราะห์ความหนาแน่นของจราจรได้เป็นอย่างดี ต่างจากระบบเก่าที่มีเพียงแต่ระบบไมโครเวฟที่ยิงวัดจำนวนรถที่ผ่านได้อย่างเดียว โดยไม่สามารถจำแนกได้ละเอียด

จะเห็นได้ว่า Use cases หลายๆ กรณีนั้น สามารถทำให้การใช้งานชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน สามารถร่นระยะการทำงานของมนุษย์ มีความแม่นยำสูง และลดข้อผิดพลาดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่า ในระยะต่อจากนี้ หาก 5G ได้ใช้งานจริงแล้ว Use cases ต่างๆ จะมีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้แน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คนไอที อยู่วงการเทเลคอมมาร่วม 20 ปี ผันตัวมาทำสิ่งใหม่ๆ แล้วก็เริ่มสนุกกับมัน!